Sunday 17 April 2011

น.ณ ปากน้ำ หรือ พลูหลวง หรือ นายประยูร อุลุชาฎะ



น. ณ ปากน้ำ "ศิลปิน" ละแวกหน้าพระลาน




รกรากของปู่เป็นคนเก่าแก่ของปากน้ำ มีภูมิลำเนาอยู่ตรงหัวค่าย  คือสถานที่ตั้งศาลปัจจุบัน  หัวค่ายเป็นหมู่บ้านผู้ดีเก่าอยู่อย่างแน่นหนา และปู่ของข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ที่นั่น  ตระกูลของปู่เป็นตระกูลใหญ่มาก  ปู่ของข้าพเจ้าชื่อ ฉัตร  ย่าชื่อช้อย  บิดาของปู่ชื่อ อ่ำ แม่ชื่อทอง  ส่วนปู่ของปู่ชื่อ อู่    เหตุนี้เมื่อมีพระราชบัญญัติตั้งนามสกุลขึ้น  ปู่จึงเอาชื่อของบรรพบุรุษท่านมารวมกันเป็นนามสกุลว่า อู่อ่ำ    ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนเป็น   อุลุชาฎะ  เมื่อวันที่  ๑๕  พฤศจิกายน  ๒๔๙๒  


ปู่ฉัตร และ ย่าช้อย ต้องย้ายภูมิลำเนาจากหัวค่าย มาอยู่คลองมหาวงษ์  ก็เพราะว่าในปี ๒๔๕๑  ก่อนบิดาข้าพเจ้าเกิดได้ปีเดียว ทางราชการทำการเวนคืนที่ดิน จะใช้ที่ตรงนั้นเป็นที่ตั้งศาลจังหวัดสมุทรปราการ   ญาติพี่น้องของปู่จึงแตกสานซ่านกระเซ็นไปคนละทิศละทาง  ปู่ได้ซื้อบ้านเรือนไทย จากสงขลานาเกลือที่ปากอ่าวเอามาปลูกใหม่ เรือนโบราณนี้สมัยข้าพเจ้าเป็นเด็ก รู้สึกว่ากว้างขวางใหญ่โตมาก เคยวิ่งเล่นเต็มฝีเท้าอย่างสบาย  บิดาข้าพเจ้าได้เกิดที่บ้านหลังนี้ เดิมปู่คิดว่าคงจะไม่มีบุตรอีกแล้ว พอมีบุตรชายคนสุดท้อง คือ พ่อของข้าพเจ้า  ปู่เลยตั้งชื่อให้ว่า “แถม”   แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็น  พยนต์”  ตอนที่พ่อเกิดนั้น พวกพี่สาวเขารุ่นสาวกันหมดแล้ว นับว่าอายุห่างจากพ่อมากที่เดียว  ขณะที่พ่อเกิดฐานะของปู่มั่งคั่งเสียแล้ว ภายในบ้านจึงมีเครื่องตบแต่งบ้านอย่างหรูหรา สมกับภูมิของคนมีเงินในสมัยนั้น  พ่อของข้าพเจ้าเติบโตขึ้นมาในท่ามกลางความรุ่งเรืองของตระกูล ปู่ส่งไปเรียนหนังสือจนจบการศึกษาจาก โรงเรียนมัธยมวัดกลาง สอบได้ชั้นมัธยมสี่ เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี จึงลาออกจากโรงเรียน กลับมาอยู่บ้านได้ปีเดียวจึงได้ตามพี่สาว คือ ป้าธง ไปช่วยขายยาที่จังหวัดลำปาง  


พ่อของข้าพเจ้า ได้ติดตามพี่สาวคนโตไปช่วยในร้านขายยาของพี่เขยคือ ขุนเวชวิสิฐ  จึงได้มีโอกาสได้รู้จักกับแม่ คือ นางสาวคำน้อย  แก้วกำเหนิด  บุตรีของนายแก้ว ยายจัน ผู้มีฐานะอันจะกินในจังหวัดนั้น  แม้แม่ของข้าพเจ้าจะแก่กว่าพ่อถึง ๔ ปี  แต่ก็เป็นสาวสวย รูปถ่ายของแม่ในขณะสาวนั้นแต่งกายแบบผู้ดีชาวเหนือร่วมกับญาติๆ ซึ่งล้วนแต่งกายอย่างงดงาม สวมถุงน่องรองเท้าสวยมาก  พ่อจึงแต่งงานกับแม่ที่ลำปาง แล้วพาแม่ลงมาอยู่ปากน้ำ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๖๙ 



ในความรู้สึกส่วนลึกของพ่อนั้น ท่านรักลูกผู้หญิงมากกว่าลูกผู้ชาย ดังนั้นเมื่อแม่ตั้งครรภ์บุตรคนโตคือข้าพเจ้า พ่อจึงฝันหวานจะได้ลูกสาวให้สมใจ ถึงแก่ตั้งชื่อลูกไว้ล่วงหน้าว่า รัชนี   แต่เมื่อข้าพเจ้าถูกคลอดออกมา ( วันพุธที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๑ เวลา ๐๓.๒๐ น. ) กลับกลายเป็นลูกชาย พ่อจึงผิดหวังอย่างมาก จึงได้เอาวันเดือนปีเกิดไปให้ท่านวินัยธรตั้งชื่อให้ใหม่ว่า  ประยูร   เพราะข้าพเจ้าเกิดวันพุธ  จึงเอาอักษรวรรคศรี กับ เดช ผสมกัน  อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าถือว่าชื่อที่พ่อข้าพเจ้าตั้งไว้ให้ก่อนนั้นเป็นมงคลนามอันสูงสุด  จึงได้เอาอักษรย่อจากรัชนี คือ ตัว นมาตั้งนามปากกาว่า  น. ณ ปากน้ำ  เพื่อเป็นการ คารวะแก่พ่อ และข้าพเจ้าก็ภูมิใจในชื่อรัชนียิ่งกว่าชื่อจริงเสียอีก   
 
บรรดาป้าๆ เล่าให้ฟังว่า เมื่อข้าพเจ้ายังนอนแบเบาะอยู่นั้น  ผิวขาว ผมสีน้ำตาล และอ้วนยังกับลูกฝรั่ง จนป้าพูนเรียกชื่อแม่ข้าพเจ้าเล่นๆว่า แหม่มกะปิ เพราะว่ามีลูกเป็นฝรั่งและแม่จะแต่งตัวทันสมัยอยู่เสมอ ไม่นุ่งโจงกระเบน กินหมากเหมือนสาวชาวปากน้ำทั่วไป แต่นุ่งผ้าถุงยาวกรอมเท้าแบบสาวสมัยในรัชกาลที่๖ เขานิยมกัน เสื้อผ้าของท่านก็ออกมาจากแคทตาลอก แม่เลยกลายเป็นคนทันสมัยคนเดียวในปากน้ำ   เมื่อข้าพเจ้าได้ออกมาเป็นหลานชายคนแรกของ ปู่และย่า ปู่จึงสร้างบ้านขึ้นอีกหลังหนึ่งติดกับหลังใหญ่ไปทางทิศตะวันออกให้เป็นของขวัญแก่หลาน พ่อและแม่จึงแยกครัวไปอยู่บ้านหลังใหม่นี้ 


ที่บ้านของข้าพเจ้ามีเครื่องดนตรีไทยแขวนไว้หลายชนิด ดูเหมือนว่าจะเป็นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ พ่อของข้าพเจ้าจะนำวงไปออกอากาศที่สถานีวิทยุศาลาแดง เดือนละครั้ง เครื่องดนตรีที่พ่อถนัดที่สุดคือซอด้วง พ่อจะเล่นดนตรีเก่งหรือไม่ ข้อนี้ข้าพเจ้าวิจารณ์ไม่ได้เพราะเคยฟังแต่เด็กๆ ซึ่งย่อมจะเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไปหมด  มาฟังตอนโตก็เป็นสมัยที่ท่านเมาเหล้าอย่างหนักเสียแล้ว เสียงซอด้วงก็คงอ้อแอ้แบบคนเมาเหล้านั่นเอง แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงเก่ง มิฉะนั้นก็คงไม่เป็นหัวหน้าวง น่าเสียดายที่ข้าพเจ้าไม่ได้รับการถ่ายทอดวิชาการดนตรีไว้ เพราะเมื่อข้าพเจ้าโตพอจะรักดนตรี พ่อกลับเหวี่ยงดนตรีทิ้งหันไปเอาดีทางกินเหล้า  ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงหันไปฝึกดนตรีสากล แล้วตั้งวงเล่นกับเพื่อนๆสมัยที่เรียนอยู่มัธยม๖ ในโรงเรียนประจำจังหวัด แม้จะขึ้นมาเรียนกรุงเทพฯแล้วก็ยังคงร่วมวงกับเพื่อนอยู่ เคยไปบรรเลงกล่อมหอมาหลายบ้านแล้ว เครื่องดนตรีที่ข้าพเจ้าเล่นคือ ไวโอลิน สมัยนั้นคลั่งหนัก ขนาดเข้าไปตั้งวงเล่นในเล้าหมูที่ตำบลท้ายบ้านก็ยังเอาเพราะวันนั้นฝนตกบ้านแต่งงานคับแคบไม่มีที่ให้เราขึ้นไปเล่นบนบ้านก็เลยเข้าไปกล่อมหมูถึงในเล้า 


สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับมรดกจากพ่อ  และเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าภูมิใจที่สุดก็คือการเขียนหนังสือ คงจะไม่มีใครรู้หรอกว่าพ่อของข้าพเจ้าเป็นนักเขียนหนังสือตัวยง ข้าพเจ้าเคยค้นในตู้พ่อพบต้นฉบับงานประพันธ์ของพ่อ ชื่อเรื่อง “ ศฤงคารอาฆาตเป็นเรื่องลึกลับซ่อนเงื่อนเช่นเดียวกับเรื่องที่นิยมกัน สำนวนความพรรณาและไดอาล็อกสวยงามมาก น่าเสียดายที่พ่อไม่ส่งเรื่องนี้ไปตีพิมพ์ ดูเหมือนว่าพ่อจะประทับใจต่อชื่อนางเอกที่พ่อแต่งเป็นอย่างมาก เมื่อพ่อมีลูกสาวคนโตและคนรองลงมา ท่านจึงเอาชื่อนางเอกในเรื่องของท่านมาเป็นชื่อลูกสาว คือ บุษรัตน์ และ นุชรัตน์ น่าเสียดายว่านุชรัตน์ นั้นอายุสั้นได้ตายเสียที่ลำปางด้วยโรคไทฟอยด์ขณะที่อายุได้ ๑๐ ขวบกำลังน่ารักมาก

พ่อมีบุตรเรียงลำดับดังนี้

1.       นายประยูร           อุลุชาฎะ 

2.       นางบุษรัตน์          ชอบประดิษฐ์

3.       นายพยม             อุลุชาฎะ

4.       ด..นุชรัตน์        อุลุชาฎะ  ( ถึงแก่กรรม)

5.       นางพิณรัตน์        ราชภักดี

6.       นายพยาม        อุลุชาฎะ

7.       นางสำเภารัตน์           อุลุชาฎะ

8.       นายประยุทธ      อุลุชาฎะ (ถึงแก่กรรม



สมัยหลังญาติของข้าพเจ้า เห็นข้าพเจ้าเป็นโหรต่างก็สงสัยว่าสืบเชื้อสายมาจากใคร ที่จริงน่าจะสืบสายมาจากป้าธงเสียมากกว่า เพราะป้าธงชอบดูลักษณะคนจะจากตำราโหง้วเฮ้งหรือตำราอะไรไม่ทราบ  แต่ท่านทำนายใครแล้วแม่นเป็นจับวาง  อย่างข้าพเจ้าท่านก็ทำนายว่า  ต่อไปจะมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ชีวิตลุ่มๆดอนๆ ไม่ค่อยมีความสุขกับเขาเท่าไหร่นัก   คำทำนายของป้าธง ข้าพเจ้ายังจดจำได้อย่างแม่นยำจนขณะนี้ ซึ่งก็ถูกต้องตามปากของป้าธงทุกอย่าง


เริ่มเรียนชั้นมูลที่ โรงเรียนเยาววิทยา (ตรงตึกพระยาจินดาปัจจุบันอยู่ ๒ ปี  แล้วย้ายไปเรียนชั้น ป.๑ ถึง ป.๔ ที่โรงเรียนวัดนอก (วัดพิชัยสงครามจากโรงเรียนวัดนอกจบประถม๔ ไปเรียนต่อโรงเรียนวัดกลาง โรงเรียนใหม่ตั้งอยู่ในป่าช้า เดินไปเรียนหนังสือต้องผ่านป่าช้าเชิงตะกอน วันไหนเผาศพตอนเย็นเขาเปิดหีบศพเหม็นตลบเรียนหนังสือกันไม่ได้เลย


สมัยเรียนอยู่ชั้น ม.๕  เป็นยุวชนทหาร  จำได้ว่าติดสาบเหลือง วันหนึ่งของวันที่ ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔  ตอนเช้าประมาณ ๗ โมงเช้า อากาศกำลังหนาว มีคนมาส่งข่าวที่บ้านว่าทหารญี่ปุ่นบุกบางปูแต่เมื่อคืนนี้  ให้แต่งตัวยุวชนไปรวมพลที่โรงเรียน   พอได้ข่าวก็แต่งยุวชนทหารใส่เครื่องยศพร้อมออกวิ่งจากสะพานมหาวงศ์ไปตามถนน  สมัยนั้นยังมีต้นมะขามครึ้มอยู่สองข้างทาง เวลาโมงเช้าอากาศยังสลัวและเยือกเย็น วิ่งไปก็สังเกตว่าทุกโคนต้นมะขามมีทหารแต่งชุดสีเขียวเข้มทั้งตัวยืนถือปืนจังก้า บ้างก็นั่งคุกเข่าข้างเดียว พวกนั้นหยุดนิ่ง ข้าพเจ้านึกว่าคงเป็นทหารไทย เคยเห็นแต่ทหารเรือแต่งชุดสีน้ำตาลกับชุดขาว ส่วนชุดเขียวไม่เคยพบ เมื่อเห็นก็ดูแปลกดีประกอบทั้งบรรยากาศมัวๆ เห็นไม่ถนัด พอวิ่งมาถึงศาลากลางเป็นทางแยกไปบางปู ตรงนั้นค่อนข้างสว่าง เห็นทหารสีแดงๆ บางคนมีเคราเขียวดูไม่ใช่คนไทย บางคนเมื่อข้าพเจ้าหยุดวิ่งเดินไปดูไกลๆ ยืนจ้องเขาดู เขายิ้มเล็กน้อยแต่ไม่พูดอะไร เห็นแถวทหารเรียงรายไปทางโค้งของบางปู  ครั้นวิ่งมาถึงโรงเรียนชุมนุมพลจึงได้ทราบว่าที่ข้าพเจ้าวิ่งผ่านมาเมื่อครู่นี้คือ ทหารญี่ปุ่นทั้งนั้น ทำเอาเสียวสันหลังวูบ ทหารญี่ปุ่นเข้ามายึดเพียงแค่นั้น เพราะข้ามสะพานมหาวงศ์ไปทางเหนือ มีกองทหารเรือคือโรงเรียนชุมพลทหารเรือขวางหน้าอยู่ ( เดี๋ยวนี้เป็น โรงเรียนนายเรือวันนั้นทำหน้าที่สอดแนมอย่างสนุกตกน้ำตกท่าบ้าง แต่ตอนกลางวันมีคำสั่งให้เคลื่อนทหารญี่ปุ่นเข้ากรุงเทพฯได้ จึงกลับบ้าน


สมัยเรียนหนังสือ เคยออกหนังสือประจำชั้นเป็นตัวเขียนบ้าง พิมพ์ดีดบ้าง  ข้าพเจ้าเขียนภาพประกอบมีคนชอบอ่าน หนังสือนั้นมีทั้งเรื่องแปล เรื่องอ่านเล่น ขำขันและข่าวโรงเรียน ดูเหมือนจะทำได้ 2-3 เล่มก็ล้มเลิกไป จำได้ว่าชื่อ  สมุทรศึกษา


เพราะเวลาส่วนใหญ่เอาไปเขียนรูป เขียนหนังสือ บางทีก็ไปฉายหนังใต้ถุนโรงเรียน โดยประดิษฐ์เครื่องฉายหนังใช้เอง จากกระจกส่องแดดแทนไฟฟ้า แล้วก็พากย์เอง บางทีก็เอาดินมาปั้นเต็มโต๊ะเรียน(ข้างใน) ปั้นเป็นรูปภูเขา ถ้ำ เกาะแก่ง เอาปูเบี้ยวต่างๆ สีเขียวๆ แดงๆ มาใส่ไว้ ว่างๆก็เปิดฝาตู้ให้เพื่อดูเป็นสวนสัตว์เป็นที่สนุกสนานกันมาก 


เพราะมีฝีมือเขียนรูป จึงมักถูกครูใช้ให้เขียนแผนที่ในกระดานดำ เขียนรูปปอดตับไตใส้พุง หรือ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ จนออกมีชื่อเสียงว่าเป็นช่างวาดมีชื่อของโรงเรียน 


สมัยเรียนหนังสืออยู่นั้น  เพื่อนบางคนเขากะว่าจะไปสอบเข้าโรงเรียนนายเรือ บางคนจะเป็นนายร้อย บางคนจะเป็นแพทย์  ตัวเราเองไม่ชอบสักอย่าง อยากจะเรียนเขียนรูป คิดจะเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร  แต่ไม่มีใครพาไปฝาก แม่ก็ไม่ว่างมัวแต่ทำมาหากิน ส่วนพ่อก็เมาตลอดเวลา


วันหนึ่งอ่านหนังสือมีข่าวว่า ครูวาดเขียนคนหนึ่งรับสอนเขียนรูปทางไปรษณีย์ เขาบอกให้ส่งจดหมายไปยังสถานที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ข้าพเจ้าจึงรบเร้าแม่ว่าให้ช่วยพาไปมหาชัยที ถ้าไม่พาไปจะไม่เรียนต่อ กล่าวง่ายๆอยากกวดวิชาเพื่อไปเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร  แม่ก็ตัดใจพาไป เที่ยวสอบถามตำบลที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ นั่งเรือข้ามฟากไปคลำหาจนพบ ปรากฏว่าบ้านนั้นเป็นเล้าเป็ดใหญ่เหม็นคลุ้งไปหมด ถามหาชื่อครูคนนั้นก็นุ่งกางเกงแพรเดินออกมาใบหน้ายู่ยี่ พอบอกว่าจะมาสมัครเรียนด้วย เขาว่าประกาศในหนังสือพิมพ์เขาสอนทางไปรษณีย์ต่างหาก ถ้าเรียนที่บ้านเขาไม่รับ วันนั้นผิดหวังมากที่สุด กลับบ้านเห็นเพื่อนๆเขาไปสมัครเรียนต่อกันเป็นแถว จึงเข้ากรุงเทพฯไปติดต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร เขาไม่รับบอกว่าจะต้องผ่านจากโรงเรียนเพาะช่างเสียก่อน ด้วยมีพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยยกให้โรงเรียนเพาะช่างแผนกฝึกหัดครูช่าง เป็นเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่สุดก็ไปสมัครสอบเข้าเพาะช่างได้


เรียนเพาะช่าง สมัยยังไม่ถูกลูกระเบิด ชั้นปีที่๑ มี คุณครูสงัด มุสิกถาวร เป็นครูประจำชั้น เรียนไปได้ครึ่งปีโรงเรียนหลบภัยทางอากาศไปปลูกกระต๊อบเรียนที่วัดนางนอง บางขุนเทียน  สมัยนั้นต้องขึ้นรถรางจากปากน้ำ ตื่นแต่ตี๔ เตรียมตัว รถออกตี๕ ครึ่งถึงสามย่าน (สมัยนั้นหัวลำโพงมีอันตรายจึงย้ายสถานีรถรางปากน้ำมาอยู่ที่นี่ จากสามย่านเดินไปถึงสี่พระยา ข้ามเรือจ้าง นั่งรถไฟผ่านตลาดพลูไปลงวัดจอมทอง(วัดราชโอรสส่วนใหญ่นักเรียนที่เรียบร้อยกับผู้หญิงก็มักจะไปลงสถานีวัดจอมทองแล้วเดินย้อนข้ามสะพานมาโรงเรียนวัดนางนอง แต่ข้าพเจ้าไปร่วมแก๊งเซียนชอบเจี๊ยวจ๊าวเลยต้องหัดกระโดรถไฟ แต่ที่จริงนั้นเคยกระโดดรถรางในกรุงเทพฯจนชำนาญเสียแล้ว  จะคว่ำหน้า หงายหลัง หรือพลิกแพลงอย่างไรทำได้คล่อง ส่วนรถไฟนั้นสูงมาก  ประกอบด้วยทางข้างทางเป็นกองอิฐ กระโดดลำบาก แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร คิดจะอวดว่าเราเก่ง กระโดดได้ทุกวันและฝึกจนชำนาญ เรียนที่วัดนางนองพอฝูงป้อมบินบี ๒๔  แห่กันมาทิ้งระเบิดตอนกลางวันไม่เป็นอันเรียนกัน  ครูก็หยุดสอนทุกคนไปยืนดูที่ลานโบสถ์ได้ยินเสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหว บางคนรู้ว่ามันทิ้งระเบิดสะพานพุทธใกล้บ้าน เลยเก็บหนังสือเรียนกลับบ้าน ทุกคนก็เลยกลับบ้าง


ที่จริงก่อนจะอพยพมาอยู่ที่วัดนางนอนนั้น โรงเรียนเราถูกลูกระเบิดกลางวันแสกๆ ในวันวิสาขบูชา บังเอิญโรงเรียนหยุด มิฉะนั้นก็ต้องตายกันทั้งโรงเรียน  เมื่อโรงเรียนเปิดทุกคนไปโรงเรียนก็เห็นราบเรียบไปหมด  เหตุนี้จึงต้องย้ายไปเรียนที่วัดนางนอง  สงครามสงบญี่ปุ่นแพ้ได้ย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างเดิม โดยขนของอื่นๆไปทิ้ง แล้วปลูกกระต๊อบเรียนแทน เรียนจนจบแล้วจึงไปเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร 



มหาวิทยาลัยศิลปากร สมัยนั้นเงียบเชียบ นักศึกษาเมื่อก่อนคึกคัก  พอเกิดสงครามก็หายหน้าไปหมด รุ่นข้าพเจ้าเข้าไปเรียนปีที่๑ คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มีด้วยกัน ๒๐ กว่าคน  แต่พอถึงปีที่๒ มีเหลือเพียงที่นับได้ดังนี้

1.       อุไร        ศิริสมบัติ

2.       ไพบูลย์    สุวรรณกูฎ

3.       อังคาร    กัลยาณพงศ์

4.       ข้าพเจ้า

5.       พาศนา   วัชรเสวี

6.       นาวาอากาศเอกวิเชียร    น้อมศิริ

7.       นาวาตรีจุมพล อุทาสิน




ตอนนั้นบรรยากาศเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรรู้สึกน่ากลัว มีรูปปั้นสูงใหญ่ท่วมหัวตั้งเกะกะไปทุกห้อง อนุสาวรีย์มหึมาเช่น ชัยสมรภูมิ, คุณหญิงโม, รัชกาลที่๖ และรูปอื่นๆล้วนสูงใหญ่เต็มไปหมด  เดินผ่านไปยังห้องรุ่นซีเนียร์ มี สวัสดิ์  ตันติสุข , มานะ บัวขาว , พูน เกษจำรัส ฯลฯ พวกนี้จะเขียนรูปบนแผ่นผ้าใบสูงท่วมหัว มีการจัดสติลไลฟ์เป็นรูปแตรวง มี ทิวบา กลองแคลิแนท กลองแท๊ก ฯลฯ เฉพาะหุ่นก็น่ากลัวเสียแล้ว ใครจะไปเขียนได้มันใหญ่โตเหลือเกิน ยิ่งพวกนั้นยืนเขียนกันอย่างนิ่งเงียบไม่พูดไม่คุย ไม่ยิ้มด้วย ทำให้ใจฝ่อกลัวว่าจะเรียนไปไม่ไหวอยากจะลาออกเสียเต็มประดา ตอนนั้นใจไม่สู้เลย ยิ่งไปเห็นรุ่นพี่สูงไปกว่าเราหนึ่งรุ่น เขานั่งท่องกระดูก กล้ามเนื้อ ท่องกันเหมือนคนบ้า ก็ยิ่งกลัว เพราะอาตมาเองนั้นเกลียดการท่องยิ่งนัก 




เพราะว่าสมัยนั้นเรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตายเช่นนั้น สอบปลายปีตกเกือบหมด ยิ่งท้อถอย ปรากฎว่าพรรคพวกลาออกไปค่อนชั้น ไม่ยอมสอบแก้ตัว ข้าพเจ้าเองก็ฝืนใจสอบไปอย่างนั้นเอง แต่บังเอิญโชคดีสอบได้ ก็เลยมีสิทธิ์เรียนต่อปีที่สอง ตอนนี้คิดสู้เสียแล้ว เขาเรียนได้เราก็เรียนได้ แต่ไม่เคยเห็นที่ไหนจะมีการ รุออกทีละค่อนชั้นเช่นนี้ สมัยนั้นเขาเรียนเอาจริงเอาจังมาก วันเสาร์ วันอาทิตย์ก็มาเรียน แม้ไม่มีในตารางสอน แต่ทั้งอาจารย์กับนักเรียนมากันครบไม่เคยขาด ยิ่ง ศาตราจารย์ศิลป พีระศรี ด้วยแล้ว ท่านไม่เคยขาดเลยแม้วันเสาร์  วันอาทิตย์ ท่านก็ออกเดินตรวจงานไปทุกห้อง ส่วนครูที่สอนพอจะนึกได้ดังนี้

อาจารย์สนั่น ศิลากร                       สอนวาดลายเส้น(ดรออิ้ง)

ศาตราจารย์ศิลป พีระศรี                 สอนทฤษฎีสี,ทฤษฎีแสงเงา ประวัติศาสตร์ศิลป

                                                   และควบคุมแก้งานทุกประเภท 

อาจารย์พิมาน มูลประมุข                สอนโปรแจคชั่น

อาจารย์สิทธิเดช แสงหิรัญ              สอนกายวิภาควิทยา(อะนาโตมี)

อาจารย์สนั่น ศิลากร                       สอนกายวิภาคสัตว์

อาจารย์สนิท  ดิษฐพันธุ์                  สอนระบายสี

อาจารย์ ม..ยาใจ จิตรพงศ์             สอนคอมโปสสิชั่น

อาจารย์พินิจ   สมบัติศิริ                  สอนคอนสตรั๊คชั่น

ศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์           สอนการเข้าถึงศิลปดนตรี

อาจารย์แสวง   สงฆ์มั่งมี                  สอนปั้น

อาจารย์ไพฑูรย์  เมืองสมบูรณ์          สอนอาร์ติสฟิเชี่ยนไลท์

อาจารย์ชิน  อยู่ดี                            สอนภาษาอังกฤษ

อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์                     สอนจิตรกรรมไทยและสากล

อาจารย์สุข  อยู่มั่น                          สอนการหล่อ

อาจารย์ ม..สมัยเฉลิม กฤดากร        สอนสถาปัตยกรรม


ครูของข้าพเจ้าในสมัยเรียนปีที่สองในคณะจิตรกรรมและประติมากรรมมีดังที่พรรณามานี้ สมัยนั้นเรียนสนุก ในชั่วโมง ดรออิ้ง นั่งเขียนรูปแรงเงาไป ที่ห้องศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์จะมีการเล่นเปียโนดังอยู่เสมอ ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงของโชแปง ที่ฟังจนขึ้นใจคือ เปียโน คอนแชโต้ของเกรียก บางวันก็เล่นเพลงหนักๆ เล่นซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็เป็นบรรยากาศช่วยในการเขียนรูปเป็นอย่างดี ต่อมามีเด็กหนุ่มร่างผอมใส่แว่นตาหนามาขลุกอยู่ในห้องนั้นก็มาเล่นเปียโนให้เราฟัง เขาคือ เทพ จุลดุลย์ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นมิตรสนิท ร่วมเงากันไปไหนมาไหนทุกหนทุกแห่ง


บางเย็นเราจะได้ยินเสียง ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ร้องเพลง ซานตาลูเซีย ด้วยเสียงบาริโทนลั่นห้องของท่าน เราวิ่งไปแอบฟังกัน สักครู่ก็มีเสียงเปียโนของศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์คลอออกมา เย็นวันนั้นเรายิ้มแย้มกันได้ เพราะคาดว่า สักครู่เมื่อท่านอาจารย์ออกมาตรวจงาน คงจะไม่ดุพวกเราเป็นแน่ และก็เป็นความจริง วันนั้นปลอดโปร่งจริงๆ ท่านยิ้มหัวคุยเล่นกับเราอย่างสนุก


     พูดถึงความดุของอาจารย์ศิลป พีระศรี  นับว่ากลัวกันอย่างหนูกลัวแมวมาทุกรุ่น เพราะได้ครูดุจึงทำให้เรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตาย


เย็นวันหนึ่งดูเหมือนตอนนั้นจะอยู่ปีที่๓ เรานั่งท่องหนังสือกันอย่างบ้าคลั่งที่สนามปูนโคนต้นจันทน์ บางคนก็เอาประวัติศาสตร์ศิลปะมาท่อง อีกคนทำหน้าที่เป็นติวเตอร์โดยผลัดกัน เราท่องศักราชตั้งแต่ราชวงศ์เก่าของอียิปต์เรื่อยลงมาจนถึงดิฟค้อป ผู้ทำหน้าที่ซักก็จะซักว่าพีระมิดลูกนั้นสร้างสมัยไหน ศักราชเท่าไร มหาวิหารนี้เท่าไร ใครสร้าง แถมยังสั่งให้เขียนแปลนให้ดูกับลักษณะพิเศษของแต่ละราชวงศ์ด้วย ตอนนั้นเย็นใกล้ค่ำแล้ว อาจารย์พินิจ สมบัติศิริ ท่านแอบมายืนดูเราท่องกัน ท่านไล่กลับบ้านเพราะค่ำแล้ว เราขอร้องท่านว่า พรุ่งนี้จะสอบแล้วและเป็นการสอบสัมภาษณ์ด้วยไม่มีข้อเขียน

บางคนก็ท่องกระดูก กล้ามเนื้อทุกๆชิ้น เอาแบบกระดาษมากางเรียงรายเต็มสนาม อาจารย์พินิจฯ ท่านส่ายหน้าบอกว่า เรียนกันแบบนี้อีกหน่อยก็ตายหมด ท่านเรียนในยุโรปมาแต่เล็กก็ยังไม่เห็นมีที่ไหนเรียนหนักเท่านี้ ท่านไปพลิกตำราที่เราท่องกัน เห็นมีฟอรสเปคตีฟ ทฤษฎีเงา และประวัติศาสตร์กับสไตล์เป็นเล่มๆ ดูท่านจะหนักใจแทนพวกเรามาก และท่านคงจะไม่รู้ว่าวิชาที่ท่านสอนเราก็หนักอึ้งเกือบตายเช่นกัน ท่านสอนคอนสตรั๊คชั่น สอนโครงสร้างสถาปัตยกรรมหน้าต่างแบบยุโรปทุกแบบ สมุดที่เราจดเล็กเชอร์ของท่านก็เล่มมิใช่เล็ก


การสอบสมัยนั้น ไม่มีข้อเขียนเลยเป็นการสอบสัมภาษณ์รวด คนละ ๒ ชั่วโมงในห้องคณบดี อาจารย์ศิลป จะเป็นประธานและมีอาจารย์ผู้สอนอีก ๒-๓ ท่าน ทุกคนจะไล่ต้อนให้จนมุม เช่น ประวัติศาสตร์ศิลป จะต้องท่องศักราชให้หมด สถาปัตยกรรมอินเดียมีกี่แบบ ก็ต้องเขียนลงบนกระดานดำและบอกศักราชเสร็จ แปลนแต่ละชิ้นเรียกว่าอะไร ใครสอบเสร็จก็เหมือนขึ้นสวรรค์ แต่ละวิชาสอบแบบนี้ทั้งนั้น เว้นแต่วิชาปฏิบัติจึงจะนั่งโต๊ะหรือเข้าห้องปั้นห้องเขียนกันไปเลย เพราะว่าเรียนกันแบบนี้ รุ่นของข้าพเจ้าในปีหนึ่งมีเกือบ ๓๐ คน พอถึงปีที่๓ เหลือเพียง ๗ คนเท่านั้น


สมัยนั้น ท่านศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ท่านมุ่งในคุณภาพ ท่านเคยพูดบ่อยๆว่าหลักสูตรที่เรียนกันนั้น เป็นหลักสูตรจากอะเคเดมี่ในฟลอเร้นซ์ จะต้องรักษาคุณภาพให้เท่าเขา ดังนี้การสอบตกของพวกเราเป็นของธรรมดา เรามองดูเพื่อนฝูงที่ร่ำลาออกไปด้วยหัวใจที่ชาเย็นไม่สงสารและดีใจ เพราะตัวเราเองยังจะต้องผจญกรรมอีกต่อไป ยังไม่รู้ว่าจะเป็นลูกผีลูกคนหรือไม่ บางทีคิดแล้วก็อยากลาออกตามเพื่อนๆ เพราะไม่มีเวลาพักผ่อนเลยเรียนหนักมาก หนังละครไม่เคยดู สมัยนั้นผู้หญิงผู้ชายไม่เคยคิดรักชอบกัน เพราะไม่มีสมองเหลือสำหรับไปคิดไปรู้สึกในเรื่องอื่น ผู้หญิงชอบห่อข้าวมารับประทานกัน พวกผู้ชายที่หิวโหยก็ไปขอกินอย่างหน้าด้าน สมัยนั้นร้านรวงไม่ค่อยมี สนามหลวงนานๆจะมีคนเดินผ่านตามถนน ส่วนกลางสนามนั้นหญ้าขึ้นเป็นป่ารก ไม่มีใครกล้าเดินผ่าน เพื่อนของข้าพเจ้าคนหนึ่งชื่อ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ  เขาอยู่วัดสระประทุม เดินมาถึงถนนหน้าพระลานเปียกฝนหมดทั้งตัวเพราะเดินตากฝนมา พอถึงเข้าห้องเล็กเชอร์ทั้งเปียกโชกอย่างนั้น  อาจารย์ที่สอนดูเหมือนท่านจะชินต่อเรื่องผิดปกติเช่นนี้เสียแล้วก็คงสอนต่อไปจนจบ พอตกเย็นเสื้อผ้าก็แห้งไปกับตัว 


เรียนจบปีที่๓ ต้องออกไปเป็นทหารเรือเพราะภูมิลำเนาอยู่ปากน้ำ ถูกเกณฑ์จับได้ใบแดง เขาเลยต้อนลงเรือเอามาส่งที่กรมอู่ทหารเรือแล้วเดินไปหมวดเรือรบ ได้กินข้าวแดงมื้อแรกตอนดึก ด้วยเรือมาถึงช้า เป็นทหารเสีย ๓ เดือนด้วยได้รับการยกเว้น เพราะเคยผ่านยุวชนนายสิบปีที่สองมาแล้วจากโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งก็เป็นการมิได้เปรียบแต่อย่างไร  เพราะทหารเขาฝึกภาคสนามกันเฉพาะสามเดือนแรกเท่านั้น หลังจากนั้นก็มีหน้าที่เข้ายามเวรไปตามเรื่อง เป็นอันว่าสามเดือนที่อยู่ในเครื่องแบบทหารเรือนั้นถูกฝึกเกือบตาย รองเท้าก็ไม่ให้ใส่ เพราะสมัยหลังสงครามข้าวของแพงต้องวิ่งไปตามถนนโรยหินไม่ลาดยางจากสวนอนันต์ไปสี่แยกบ้านแขกทุกเช้าด้วยเท้าเปล่า เท้าระบบจนเป็นหนอง เคยถูกใช้ให้ไปขัดโป๊ะที่ท่าราชวรดิฐ ก่อนที่จอมพล ป. จะถูกจี้ สมัยนั้นหมวดเรือเล็กที่สวนอนันต์เป็นฝ่ายนาวิกโยธินเลยโดนฝึกเสียอาน บางคืนเขาต้อนไปดูหนังกลางแปลงที่หน้ากองทัพเรือ เป็นหนังแสดงชีวิตอันสนุกสนานและมีเสียเพลงที่เคยฟังเคยชอบ ได้ยินเข้านึกถึงตัวเองที่ลำบากแล้ว น้ำตาซึมออกมาเองไม่รู้ตัว ถูกปลดจากทหารเมื่อครบ ๓ เดือน เป็นทหารกองหนุนดูเหมือนเขาจะให้ยศเป็นจ่าตรีเพราะเรามีความรู้ 


จากนั้นได้สมัครเรียนต่อปีที่๔ ที่คณะจิตรกรรม มีสิทธิได้เรียนเพียงสองคนคือ ข้าพเจ้า กับ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ เท่านั้น นอกนั้นเขาออกไปทำงานกันหมด  ไพบูลย์ นั้นตอนเรียนลำบากแสนเข็ญ เขาอยู่วัดสระประทุม เดินมาเรียนที่สนามหลวง ไม่ค่อยมีสตางค์ ตอนนั้นเขามีรถรางแล้ว


เราเรียนสมัยสงครามมันลำบากมาก ต้องเก็บมะละกอหลังห้องเพ้นท์มากิน กลางคืนต้องไปรับจ้างทำงาน กลางวันมาง่วงในห้องเรียน อีกอย่างหนึ่งเรียนกันมา ๔๐ กว่าคน เหลือแค่ ๕ คน มันแค้นใจ มันยากลำบาก เลยเรียกคณะก๊อก เหมือนแวนก๊อกที่ลำบากยากแค้นกว่าจะดังได้


สมัยเรียนด้วยกัน ๕ คน มันมีวิชาท่อง ไพบูลย์นั่งจดอยู่คนเดียว พอถึงเวลาสอบแกติวให้เพื่อนๆ ติวไปติวมาอย่างไรไม่รู้ คนถูกติวผ่าน ส่วนคนติวตก


 เรียนไปสองปีไม่มีสิทธิสอบด้วยผลงานมีไม่พอ แม้รุ่นก่อนๆก็หมดสิ้น เพราะผลงานที่กำหนดไว้มากมายเหลือเกิน ที่สุดตั้งแต่รุ่นหนึ่งมาจนรุ่นที่สี่คือรุ่นของข้าพเจ้า ไม่มีใครสอบปริญญาได้เลยเพราะสมัยนั้นนโยบายของมหาวิทยาลัยยังไม่พร้อมที่จะประสาทปริญญาให้แม้จะทำงานดีเด่นไว้มากมาย เขากดไว้ เราไม่รู้เองจึงเสียเวลาเรียนไปเปล่าๆอีกสองปี แต่ภูมิก็แน่นขึ้นเพราะเรียนมาเต็มขั้น เท่านี้ก็ดีถมเถไปและไม่เคยคิดเสียใจ ไม่เหมือนรุ่นหลังๆเขาให้ปริญญากันอย่างง่ายดาย ตอนหลังนี้เรียนไปอย่างแกนๆเท่านั้น ประกอบด้วยแฟชั่นงานต้อนรับน้องใหม่ระบาดไปทั่วทุกมหาวิทยาลัย ตอนนี้เลยมุ่งไปทางเล่นเสียมาก มีการจัดงานกันบ่อยๆมีสมาคมโน่นสมาคมนี่มากมาย เพราะตอนหลังนี้ดูเหมือนว่าอาจารย์ศิลปท่านจะเลิกเข้มงวดเสียแล้ว นักศึกษาจึงมีจำนวนมากขึ้น ไพบูลย์ได้กลายเป็นอาจารย์สอนระบำสมัยใหม่แบบ มาร์ธา เกรแฮม สอนในรั้วในเขตของตนไม่พอ ยังไปสองถึงที่จุฬาฯ


ตัวข้าพเจ้าเองตอนนั้นเป็น ประธานนักศึกษาก็เลยเป็นตัวเจ้ากี้เจ้าการใหญ่ มีหน้าที่ร่างธรรมนูญนักศึกษา ต้องเข้าห้องสมุดยูซีส ศึกษาระเบียบแบบแผนของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลกและวิธีของเขาอย่างละเอียด จนร่างธรรมนูญนักศึกษาสำเร็จ ซึ่งยังคงใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้  เมื่อมีธรรมนูญก็ต้องมีการสมาคม จัดปาร์ตี้ต่างๆเลยกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดงาน และเป็นผู้กำกับการแสดงบนเวทีทุกชนิด


เคยจัดโอเปร่ามาแล้ว โดยให้ ชุณ  จิตตะยะโสธร  เสียงเทนเนอร เป็นพระเอก ให้  สุพรรณิการ์ วงศ์สาไทย เสียงโซปราโน เป็นนางเอก  ตอนนั้นเชิญ  ม..พวงร้อย  อภัยวงศ์  มาเล่นเปียนโน  เทพ จุลดุลย์  กำกับฝ่ายดนตรี(เปิดแผ่นเสียงปีนั้นจัดงานต้อนรับน้องใหม่รุ่น สุวรรณี  สุคนธา และ ชะลูด นิ่มเสมอ  ที่โรงละครแห่งชาติ(หลังเก่าที่ถูกไฟไหม้ไปแล้ว) ตอนนั้นคนมากขึ้นเลยต้องไปจัดกันในโรงละคร เชิญผู้ปกครองมาดูแต่คนโหรงเหรง   มีฝรั่งมาเดินเกร่หลายคนเลยต้อนเข้าไปดูด้วย การเล่นคราวนี้ดูเหมือนอาจารย์ศิลปท่านจะชอบ ท่านอุตส่าห์มาดูในคืนซ้อมใหญ่ และช่วยแนะนำหลายประการ วันจริงนั้นก็เล่นกันอย่างสุดฝีมือ ข้าพเจ้าคุมอยู่หลังโรงละคร  มีพวกนักศึกษาหลายคนทั้งหญิงและชายมาขอร้องอยากเล่นบ้าง  ถามว่าร้องเพลงเป็นไหม ก็ไม่เป็นกันทั้งนั้นตอนนั้นโอเปร่ากำลังจะจบ และฉากต่อไปจะเป็นละคร(แบบลิเกฝรั่งที่สมพร ภูริพงศ์ เป็นผู้กำกับการแสดง มี ม..เบญจมาศ ชุมสาย เป็นนางเอก  เขาใช้เวลาแสดงประมาณหนึ่งชั่วโมงเต็ม  มีเวลาพอที่จะซักซ้อมพวกที่อยากจะเล่นกับเข้าบ้าง

ข้าพเจ้าเหลือบดูช้างเอราวัณที่ชักรอกอยู่บนหลืบชั้นบน  เห็นโขดเขาที่กองหลังฉากมีเครื่องแต่งตัวเก่ากองเป็นขยุ้ม จึงสั่งให้ทุกคนไปแต่งตัวตามที่ต้องการ ข้าพเจ้าเลือกบุคคลและซักซ้อมว่าคนนั้นจะต้องทำอย่างนั้น และฝึกซ้อมดราม่าแบบใหม่อย่างเป็นกลุ่มจนเข้าใจดี แล้วก็เลยไล่เข้าไปแต่งตัว แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ชายนุ่งกางเกงลิงเป็นพื้นแล้วทาสีตามตัวเอาผ้ามาคลุม มีแต่ ทวี นันทขว้าง  ที่แต่งเป็นฝรั่งสวมเสื้อคลุมแสดงเป็นแวนก๊อกกำลังเขียนรูป ตอนนั้นเตรียมเตี๊ยมในใจเอาไว้แล้วว่า จะจัดไฟอย่างไร จะเอาอะไรเป็นฉากและซักซ้อมตัวเอกคือ  ฃำเรือง  วิเชียรเขตต์(แสดงเป็นคิงส์ให้ตีลังกาหลังตามที่เขาเคยถนัด จนคล่องแคล่ว ทุกคนจะต้อจดจำตำแหน่งที่ของงานจะต้องทำอย่างไร  เสร็จแล้วไปปรึกษากับเทพ จุลดุลย์  ผู้คุมเปิดแผ่นเสียง จะเอาเพลงซิมโฟนี่นัมเบอร์สามของบราห์ม  คุณเทพไม่ยอมเพราะรู้ว่าไม่ได้ซ้อมกันมาเลย กลัวว่าเพลงของบราห์มจะเสีย  ต้องขอร้องแกมบังคับถึงบ่นอุบอิบและยอมทำตาม ละครก็เล่นกันไป ข้างหลังฉากก็ซ้อมกันไปจนพรักพร้อมกันแล้ว

พอละครใหญ่ของ สมพร  ภูริพงศ์ จบให้ แอนเนาเซ่อร์ ไปประกาศว่า  ต่อไปนี้จะเป็นดราม่าพิเศษ ขอให้ตั้งใจชมกันให้ดี ของดีมีไม่มาก  ข้าพเจ้าให้ชื่อฉากนี้ว่า  เซอเรียลลิสติค มูฟเมนท์

เสียงคนดูฮือฮา  มีการร้องเพลงสลับฉาก  ส่วนหลังฉากนั้นจัดฉากกันทันที  โดยเอาฉากเก่าๆมาผสมปนเปกัน ใช้เทคนิคสาดแสงไฟช่วย เป็นไฟสีม่วงแกมแดงเข้ม และมีสีเขียวเรืองๆจับตามโขดหินและกิ่งไม้พอเปิดฉากตัวแสดงผู้ชายจำนวนสิบจะก้มตัวลงกอดเป็นก้อนนิล ปะปนไปกับก้อนหินต่างๆ มีบัลลังก์ใหญ่ตั้งอยู่เด่นและคิงส์(ชำเรือง วิเชียรเขตต์) ซึ่งรูปร่างล่ำสันนั่งนิ่งเป็นรูปปั้น แวนก๊อก(ทวี  นันทขว้างก็เขียนรูปอย่างบ้าคลั่ง ในท่ามกลางบรรยากาศสลัวและเพลงอันแผ่วเบา สักครู่ไฟที่หรี่ไว้จะเริ่มสว่างขึ้นข้างๆจนเห็นโขดหินที่เป็นกลุ่มคนมหึมากอดกันแน่น  เริ่มเคลื่อนไหวอย่างเจ็บปวดรวดร้าว ราวกับภาพเขียน แพแตกจากเรือเมดุสาของ เซอรริโด บรรยากาศเงียบกริบ เพลงก็ค่อยๆเงียบ ไฟข้างหนึ่งดับ อีกข้างหนึ่งสว่างขึ้น  คิงส์ที่นั่งนิ่งในท่ารูปปั้นของไมเคิล แอนเจโล ก็เดินแยกก้อนหินก้าวออกมา แล้วตีลังกาโครมกลับมานั่งเป็นก้อนหินตามเดิม  ช่างแนบเนียนและเชี่ยวชาญอะไรเช่นนั้น  ทุกอย่างเงียบตอนนี้เพลงเปิดจนสุดเสียง กลุ่มคนก็กระจายเพละออก เป็นสัญลักษณ์ของแพแตกละเอียด มีบุคคลตัวล่ำขี่ช้างเหาะมาอย่างรวดเร็ว(ช่วยกันชักรอกไฟสว่างโร่แล้วดับพรึบปิดม่านทันที


คนดูบ่นพึม ดูไม่รู้เรื่องว่าอะไร  ต้องดันผู้ประกาศว่าเราประสงค์จะให้เห็นความงามในสีแสงและดราม่าอย่าไปเอาเรื่องเอาราว ถ้ามันเป็นเรื่องก็ไม่ใช้เซอเรียลลิสม์น่ะซิ  เท่านั้นคนพอใจเลยตบมือกราว ข้าพเจ้านั้นยุ่งกำกับอยู่หลังฉาก ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร พอเขาตอบว่าดีก็เลยสบายใจ และพวกตัวแสดงจำเป็นทั้งหลายก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปตามกัน


มีการแสดงละครในงานรื่นเริงประจำปี ปีหนึ่งต่อหน้าแขกผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น ท่านเจ้าคุณอนุมานราธน และ ผู้หลักผู้ใหญ่ค่อนข้างมากอยู่ เราจัดเวทีกันในห้องเพ้นติ้งด้วย ที่นั้นเป็นห้องใหญ่ยาว มีดนตรี มีแฟชั่นโชว์แบบสมัยใหม่คือ คุณบุญถึง ฤทธิ์เกิด แต่งตัวเป็นจิตรกรผู้ยากไร้ เดินแปะปะออกมาแล้วพรรณาถึงความยากแค้นของศิลปิน ความอดอยาก ผมของเขายาวเป็นกระเซิง (ในสมัยนั้นมหาวิทยาลัยศิลปากรผูกขาดการไว้ผมยามแต่แห่งเดียว พวกฮิปปี้ยังไม่เกิดในโลก) เขาร้องไห้โอๆ ข้าพเจ้าเป็นผู้กำกับอยู่เช่นเคยนึกชมในใจว่า เขาแสดงเก่งมากพูดจาฉาดฉานแถมยังร้องไห้เก่งตีบทแตกไปเลย แต่ฟังๆไป เอ๊ะ เขาเอาแต่ร้องไห้สะอึกสะอื้นรำพันไม่มีท่าจะจบง่ายๆ จึงไปกระซิบหลังม่านว่า เฮ้ย เข้าโรงเสียที คนอื่นเขาคอยอยู่ แกก็ไม่ยอมเข้า ขัดใจเข้าก็เลยให้คนไปดึงตัวเข้ามาตรงม่านแหวกกลาง เข้าไม่ยอมกลับแหวกม่านออกไปอีกแสดงร้องไห้สะอื้นอย่างซ้ำๆซากๆ ตอนนี้ชักโมโหเลยดับไฟเวทีแล้วกระชากบุญถึงล็อคคอเข้ามา เตรียมเงื้อหมัดจะชกหน้าพอดีมีคนมาห้ามกันไว้ คุณบุญถึงตอนนั้นรู้สึกตัวบอกว่าไม่รู้เลยว่าทำอะไรลงไปเหมือนกำลังหลับอยู่ จึงได้รู้ว่าผีเข้าละกระมัง เพราะที่นั่นใครๆก็รู้ว่าแรงมาก มีคนตายในนั้นหลายคน รวมทั้งประติมากรเอก แช่ม ขาวมีชื่อ ด้วย


สมัยหลัง บุญถึง ฤทธิ์เกิด เคยแสดงทีวี เขาก็เป็นนักแสดงชั้นดีคนหนึ่ง เช่นเดียวกับ ชูเลิศ บุญยสุต  ซึ่งอยู่หลังคุณบุญถึงก็ออก ทีวีประจำ แต่คนละช่องกัน  สมัยที่ข้าพเจ้าเรียนอยู่ปีที่๔ นั้น นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องมาเรียนกับอาจารย์ศิลปเป็นประจำในวันใดวันหนึ่งของสัปดาห์จำไม่ได้เสียแล้ว เป็นพวกที่เรียนไล่เลี่ยกัน มีคนรุ่น คุณเปล่ง โกมลจันทร์ และ คุณแสงอรุณ  รัตนกสิกร  รวมทั้ง  คุณพิชัย วาสนาส่ง  ด้วย  ในมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงมีคนพลุกพล่านมากขึ้น มีเรื่องสนุกคงจะเล่าอีกมาก


ขอตัดตอนไปถึงการเรียนปีที่๕ ไม่สำเร็จ และยังไม่เคยมีใครได้ปริญญาตรีกันเลย รุ่นแรกเขารามือไปหมดแล้ว เรารู้ว่าอาจารย์ศิลปท่านไม่ยอมให้เราผ่านแน่ เพราะสมัยนั้นเข้มงวดมาก จะเอามาตรฐานแบบโปรเฟสเซอร์ ว่ายังงั้นเถอะ ดังนี้จึงต้องออกหางานทำ แรกทีเดียวหางานไม่ได้ก็เลยไปรับจ้างเขาเขียนป้ายโฆษณา เพราะดีกว่าอยู่เฉยๆ ที่ร้านทำโปสเตอร์แถวหน้าโรงหนังโอเดียน เคยเขียนโปสเตอร์ไปหลายแผ่น อยู่ไปประมาณ ๒-๓ เดือนก็เบื่อ รู้สึกว่าตัวเองเรียนมาแทบแย่แล้วมาย่ำเขียนโปสเตอร์ ปะปนไปกับพวกที่เขาไม่ได้เรียนมาเลย ก็ชักอาย จึงไปสมัครเข้าทำงานกับบริษัท เซี่ยงไฮ้คอมเมอเชียล ไกด์ มีฝรั่งเป็นผู้จัดการ มีเมียเป็นชาวเซี่ยงไฮ้สวยเสียด้วย ทำอยู่สองเดือนเต็ม ฝรั่งผู้จัดการให้ออกแบบโฆษณาต่างๆแล้วก็ว่างเอาโปสเตอร์เล็กๆมาให้เขียนอีกแล้ว แบบนี้ก็อยู่กันไม่ยืด ตอนนั้นอังคาร กัลยาณพงศ์ เขาอยู่แถววัดดอน มาหากันทุกวัน วันหนึ่งไปกินข้างกลางวันกัน ก็เลยเขียนจดหมายลาออก ให้อังคารเขาไปยื่นผู้จัดการ ตัวเองไม่กล้าส่งใบลา ออกมาเดินเตะฝุ่นกับอังคาร ครั้นจะรับราชการกรมกองต่างๆ ตามที่เพื่อนฝูงเขาทำกัน ใจมันไม่ชอบ ชอบรักอิสระอยู่ พอดีโรงเรียนศิริศาสตร์เขาขาดครูวาดเขียน เลยไปสมัครสอนเพื่อคอยจังหวะหางานที่ชอบ สอนอยู่โรงเรียนศิริศาสตร์ประมาณหนึ่งปีเต็มๆ กำลังเบื่อเต็มทน  คิดอยู่ในใจว่าสิ้นปีต้องออกแน่ ตอนนั้นอังคาร กัลยาณพงศ์ เขาเบื่อโลกและก็เบื่อความหิวโหยเสียเต็มประดา ก็ตัดสินใจบวชที่วัดมหาธาตุข้างสำนักงานศึกษาเก่านั่นแหละ เขาบวชอยู่คณะ๓ สถิตอยู่หอไตรข้างโบสถ์ ก็เลยไปสิงอยู่กับอังคาร มีไพบูลย์ไปร่วมด้วย


ยุคที่ไปมั่วสุมที่คณะ๓ วัดมหาธาตุนั้น เป็นยุคก่อนที่จะไปสอนหนังสือที่โรงเรียนศิริศาสตร์ สมัยนั้นแม้ว่าจะไปสู่วงการภายนอกแล้ว แต่ก็ยังผูกพันกับข้างในมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างแน่นแฟ้น มีงานมีการก็ต้องไปทำหน้าที่กำกับการแสดงด้วยตนเอง สมัยนั้นมักจะเชิญผู้แทนจากนักศึกษามหาวิทยาลัยไปร่วมด้วยทุกครั้ง ดังนี้ เมื่อจัดละครและการแสดงต่างๆบ่อยเข้าก็ชักจะชำนาญ เริ่มไปช่วยที่อื่นเขาบ้าง เช่นที่จุฬา เป็นต้น


วันหนึ่งขณะที่ยังสอนอยู่โรงเรียนศิริศาสตร์ มีนักเรียนนายร้อยเทคนิค ๓-๔ คน ไปหาที่ห้องพักครู คนหนึ่งที่เห็นจำหน้าได้คือ สมควร สุวรรณ  เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันมาสมัยเรียนที่โรงเรียนวัดกลาง เขาเคยไปงานร่วมรุ่นประจำปีที่ศิลปากรกับ พ..นายแพทย์ชำนาญ สุวรรณวิรัช ซึ่งร่วมรุ่นเดียวกัน  และเคยเห็นความสามารถในการจัดละครของข้าพเจ้ามาแล้ว จึงถือจดหมายคณะนักเรียนนายร้อยเทคนิคปีสุดท้าย รุ่นแรก ทำการฉลองการสำเร็จการศึกษาในวันปิดภาค ขอให้ข้าพเจ้าไปช่วยจัดการให้เขาด้วย

ข้าพเจ้ารับปากทันทีด้วยเป็นงานของเพื่อน คืนนั้นนอนคิดหลายตลบว่าจะเอาเรื่องอะไรดี มาทำเป็นละครแบบคลาสสิค และเป็นเรื่องของขายชาตินักรบ นึกถึงเพลงของวากเนอร์ อันแผนเสียงสนั่น เพลงอันคร่ำครวญของเงือกน้อยใต้แม่น้ำไรน์ ก็ทำให้นึกถึงอุปรากรของ ริชาร์ด วากเนอร์ คีตกรชาวเยอรมัน เรื่องทิสคาน อิโวลด้า อันเป็นเรื่องของนักรบเอก กับความรักอันหวานซึ้งสาดรันทด จึงเขียนบทละครจบลงในวันรุ่งขึ้น ส่งให้ทางนักเรียนนายร้อยเทคนิค เขาอ่านดูพอใจกันมาก ข้าพเจ้าจึงวางตัวบุคคลผู้ร่วมทีมทันที คือให้ สมพร  ภูริพงศ์ กำกับการแสดง ข้าพเจ้าออกแบบฉาก เครื่องแต่งตัว และกำหนดเพลงประกอบทั้งยังไปคุมการซ้อมด้วย ดูเหมือนจะให้ ไพบูลย์  สุวรรณกูฏ  ไปสอนฟันดาบให้ แต่ให้เป็นแบบการฟันแบบฝรั่ง


ข้าพเจ้าส่งรายชื่อเพลงจากมหาอุปรากร เรื่องทิสคาน อิโวลด้า ของวากเนอร์ ไปให้วงดนตรีกองทัพอากาศเพื่อฝึกซ้อม ด้วยจะทำเป็นละครคลาสสิก แม้จะไม่เป็นโอเปร่า แต่การแสดงจัดท่าทางและกลุ่มตัวละคร กับการจัดแสงไฟจะต้องเป็นดราม่า คิดทุกอย่าง ต้องสร้างเสื้อเกราะทำเครื่องแต่งตัวอย่างมโหฬาร


ละครนี้เมื่อแสดงท่ามกลางนายทหารผู้ใหญ่และแขกเหรื่อ ทูตานุทูต ทุกคนชมกันมากว่าแสดงได้ดี ฉากสวย สีแสงเป็นเยี่ยม รวมทั้งดนตรีก็เข้ากับบรรยากาศดี ไปที่ไหนมีแต่คนชมเชย และขอจับมือ  มารู้ภายหลังทำเอาสะอึก  ปรากฎว่าที่เราจะเอาโน่นจะเอานี่ให้ได้ดังใจนั้น เขาก็เนรมิตให้ไปแสวงหามาหมด ทำกระทั่งดาบให้เหมือนดาบนักรบเยอรมันรุ่นเก่า เครื่องแต่งตัวค้นคว้ามาอย่างดีเลิศ ไม่ยอมให้ผิด แม้ไปเอาวงดนตรีกองทัพอากาศมาเขาก็เสียเงินมิใช่ได้มาเปล่าๆ ปรากฎว่านักเรียนนายร้อยเทคนิครุ่นนั้นออกรับราชการหลายปีแล้ว ยังใช้หนี้ไม่หมด ซ้อมฟันดาบจะให้ดูจริงจังเป็นไฟแลบ ไม่ให้ยั้งมือเลย ผลที่สุดม่านเขาขาดเป็นรูโหว่ต้องซื้อให้เขาใหม่ ละครมโหฬารอันมหาประลัยนี้เล่นเอาพวกเขาเข็ดไปจนตาย แต่ทุกคนก็ภูมิใจที่ได้สร้างสถิติอันยอดเยี่ยมไว้ใน โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไม่มีรุ่นใดลบได้ นานปีพบกันมีคุยเรื่องนี้ด้วยความสุขและระทมขมขื่นเต็มที


อันที่จริงข้าพเจ้าควรจะไปกำกับละคร หรือกำกับหนังตามความถนัด แต่เมื่อกลับมาสอนหนังสือที่ศิริศาสตร์อีกไม่เท่าไหร่ ท่านอาจารย์ศิลป พีระศรี ก็เรียกตัวไปพบบอกว่าคณะกรรมการมหาวิทยาลัย มีมติให้ตั้งโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นเอง และให้ท่านศาสตราจารย์ศิลป ซึ่งเป็นคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรมดำเนินงานได้ ท่านจึงมอบหมายให้ข้าพเจ้ากลับมาดำเนินงาน  เป็นเหตุให้ต้องลาออกจากโรงเรียนศิริศาสตร์ แล้วดำเนินงานประกาศรับนักเรียนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ แล้วข้าพเจ้าก็เริ่มร่างหลักสูตร เสนอทางคณบดีและเขียนตำรา ตอนนี้ทำงานหนักเป็นพระนารายณ์สี่กรแท้ๆ เพราะต้องสอนนักเรียนเตรียม(เวลานั้นชื่อว่า โรงเรียนศิลปศึกษาซึ่งตั้งอยู่รวมในมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วยังต้องรับภาระสอนนักศึกษาในคณะจิตรกรรม ประติมากรรมอีกสามห้อง  เป็นภาคปฏิบัติคือ สอนดรออิ้ง ต้องเหน็ดเหนื่อยมากพร้อมต้องแก้ไขงานและวิจารณ์งาน กลางคืนก็ต้องเขียนตำรา สมัยนั้นไม่มีเวลาเที่ยวเตร่กันเลย





ปีรุ่งขึ้น ทางกระทรวงคมนาคมได้ย้ายไปยังอาคารสร้างใหม่ที่อื่น ตึกเก่าเป็นตึกใหญ่ ๓ หลังมอบให้กรมศิลปากรดูแล โรงเรียนศิลปศึกษาอันเป็นโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร ยังไม่มีที่ของตนเองจึงได้ย้ายไปอยู่ที่นั่น (ตรงสถานที่อันเป็นโรงละครแห่งชาติปัจจุบันเพราะว่ามีอาคารใหญ่ถึง ๓ หลัง  จึงขยายแผนกเพิ่มขึ้นเป็น ๓ แผนกคือ แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม , แผนกช่างสิบหมู่(เตรียมสถาปัตยกรรม) , แผนกเตรียมโบราณคดี


แผนกจิตรกรรมนั้น ข้าพเจ้าควบคุมดูแล แผนกเตรียมสถาปัตยกรรม อยู่ภายใต้การดูแลของ อาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ โดยมีศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตร เป็นผู้รับผิดชอบ  แผนกโบราณคดีอยู่ภายใต้การดูแลของ ศาสตราจารย์ ม..สุภัทรดิศ ดิศกุล และ อาจารย์จิรา จงกลนัยวินิจ  สมัยนั้น อาจารย์เรณู ยศสุนทร เป็นอาจารย์ใหญ่ทำหน้าที่ธุรการ


ต่อมาระยะปลายปีที่สองการการตั้งโรงเรียนศิลปศาสตร์ อาจารย์เรณู ยศสุนทร ลาออก  ทางราชการจึงแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ใหญ่ จึงมีภาระทางธุรการเพิ่มขึ้น และจำนวนนักเรียนก็มีเพิ่มตั้ง ๙ ห้อง จึงมีปัญหามาก ข้าพเจ้าออกจะเหน็ดเหนี่อย ไหนจะสอนเพิ่มมากขึ้น ยังต้องไปสอนมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย  แทบไม่มีเวลาว่าง  ตอนนี้จึงเริ่มดื่มเหล้าเพื่อให้คลายอารมณ์ ตกเย็นก็เริ่มเข้าร้านเหล้า ผลทีสุดติดเหล้างอมแงม  วันไหนมีการประชุมเย็นวันนั้นถึงแก่อาเจียน


ปีที่สองของการรับราชการ เลขาธิการมหาวิทยาลัยศิลปากรลาไปต่างประเทศหลายปี จึงต้องรับตำแหน่งใหม่ทำหน้าที่เลขาธิการมหาวิทยาลัย และก็ได้มีโอกาสสอนในคณะจิตรกรรมและประติมากรรมอย่างเต็มที่ ส่วนโรงเรียนศิลปศึกษาต้องวางมือให้คนอื่นรับหน้าที่แทนไป แต่ก็ยังคงไปสอนในวิชาสำคัญเช่นเดิม


มีเหตุต้องทำให้เปลี่ยนแปลงชีวิตก็คือ  ได้ทำหน้าที่เลขาธิการมหาวิทยาลัยถึง ๒ ปี  ก็มีเหตุเกิดขึ้น  จึงต้องเล่าไว้ให้ปรากฎ ตอนนั้นมีสมาคมจิตรกรรมและประติมากรรมเกิดขึ้นแล้ว และข้าพเจ้าเป็นกรรมการติดต่อกันมาหลายปี ได้แสดงความสามารถหาเงินเข้าสมาคมประมาณแสนเศษ สมาคมนี้จัดงานแสดงศิลปกรรมเป็นประจำปี มีการแจกเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง พิมพ์หนังสือต้องใช้เงินมาก พอมาถึงปีนี้ ข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งอุปนายกสมาคม จัดการตรวจบัญชีปรากฎว่าเงินสมาคมเกลี้ยงไม่มีเหลือ บังเอิญถึงจังหวะจะต้องจัดงานแสดงศิลปกรรมประจำปี จะหาเงินแบบวิธีเดิมก็ไม่ทันเสียแล้ว ข้าพเจ้าในฐานะรับผิดฃอบการเงินของมหาวิทยาลัย จึงได้เอาเงินในรับผิดชอบให้สมาคมใช้ไปก่อน กะว่าเสร็จงานแสดงแล้วก็จะหาเงินมาใช้ทางราชการเขา การทำครั้งนี้ทำไปอย่างเปิดเผยใครๆก็รู้


และบังเอิญปีนั้นมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานรื่นเริงประจำปีในวันรับน้องใหม่ พวกนักศึกษาหัวเอียงซ้ายมีหน้าที่ทำหนังสือ จึงมีบทความเอียงซ้ายเต็มไปหมด และบางบทความก็ยังด่ากระทบกระเทียบอธิการบดีเสียด้วย ข้าพเจ้าถูกเรียกตัวเข้าพบและผู้มีอำนาจผู้นั้น ขอให้ข้าพเจ้าปวารณาตนเองในรูปปกครองนักศึกษาไม่ได้ จึงต้องเขียนใบลาออก ลืมนึกไปถึงเรื่องการเงินทีทำยุ่งไว้


รุ่งขึ้น ก็มีหนังสือของผู้ยิ่งใหญ่ผู้นั้น ให้นำเงินของมหาวิทยาลัยไปคืนภายใน ๓ วัน  มิฉะนั้นจะส่งเรื่องให้ตำรวจ สมัยนั้นเงินหลายหมื่นมิใช้หากันได้ง่ายๆภายใน ๓ วัน  ข้าพเจ้าไปวิ่งเต้นจำนองที่ดินหลายแห่งล้วนแต่จะต้องได้เงินเลย ๕ วันทั้งนั้น ไปขอผัดผ่อนเขาไม่ยอมต้องเข้าไปหาอาจารย์ศิลปให้ช่วยโดยจะให้ยึดโฉนดที่ดินของพ่อไว้ อาจารย์ศิลปท่านก็กรุณาช่วยพูด ไปเจรจาเข้าไม่สำเร็จ พอครบกำหนดเขาแจ้งตำรวจจับทันที เหตุนี้จึงต้องหลบไปต่างจังหวัด มาตรองดูว่าทำไมเขาจึงทำกับเรารุนแรงเช่นนั้น ผู้เล่าว่าเขาโกรธว่านักศึกษาด่าเขารุนแรงมาก อีกประการหนึ่งก็เคยไม่ถูกกันมาก่อนในสมัยที่เขายังไม่มีอำนาจสูงสุด ข้าพเจ้าเคยปฏิเสธเขาไปหลายเรื่อง เฉพาะเรื่องสุดท้ายสำคัญมาก นั่นคือข้าพเจ้าวิ่งเต้นหาเงินมาสร้างตึกเรียนจนได้เงินจากกองสลากมา ๑๕ ล้าน  ได้ปรึกษาหารือกับอาจารย์ศิลปและหลายๆคน เตรียมวางแบบแปลนขยายงานเต็มที่ ถ้าข้าพเจ้าอยู่ก็จะเป็นก้างขวางคอมิให้เขาฮุบเอาไปทำในกลุ่มของเขา ซึ่งแน่ละอาคารเรียนมันจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแค่ไหน ข้อนี้มีปัญหามาก


อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าโทษชะตาตัวเองมากกว่า ปีนั้นตรงกับ พ..๒๕๐๐  พอดี จึงท่องเที่ยวตระเวนศึกษาศิลปโบราณสถานไปยังที่ต่างๆ เพื่อหวังจะให้ลืมเรื่องร้ายๆเสีย เคยย่ำไปยังเมืองเสมาที่อำเภอสูงเนินคนเดียว ในสมัยนั้นยังเป็นป่าดงพงพีอยู่ ข้าพเจ้าย่ำไปทั่วนครสวรรค์ ไปพักกับบ้านคนรู้จักกัน ปืนขึ้นไปจนถึงยอดเขาหน่อ เพื่อศึกษาพระพุทธบาทศิลา สมัยทวารวดีบนนั้น 


เมื่อออกจากงานโดยไม่มีรายได้อย่างอื่นก็เดือดร้อนหนัก เพราะว่าไม่เขียนรูปขายแกลลอรี่ เมื่อไม่ชอบก็ไม่เขียนรูปขาย ซึ่งได้วางมือมา ๒๐ กว่าปี ก่อนจะมาเขียนอีก ตอนนั้นมีครอบครัวและมีลูกสองคน จึงทำให้ครอบครัวลำบากไปด้วย ต้องย้ายบ้านไม่หยุดหย่อน เมื่อเที่ยวมากก็รู้มากก็เลยเขียนหนังสือไปลงหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นเพื่อนๆอยู่ค่ายพาณิชยการสีลมหลายคน เช่น สาทิส อินทรกำแหง เป็น บรรณาธิการกระดิ่งทอง ส่งเรื่องไปลงกระดิ่งทองและสยามสมัยเป็นประจำพอได้เงินมาบ้าง ต่อมา คุณประหยัด ศ.นาคะนาท สนับสนุนจึงเขียนเรื่องไปลงสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ คุณประมูล อุณหธูป ได้สนับสนุนให้เขียนบทความทางศิลปลงในหนังสือรายเดือนชาวกรุง แถมยังตั้งนามปากกา . ณ ปากน้ำ ให้ด้วย คำว่า . นั้นย่อมาจาก รัชนี  เป็นชื่อเดิมที่พ่อตั้งให้ก่อนเกิด โดยหวังว่าลูกคนแรกของท่านจะเป็นผู้หญิง เมื่อผันผายกลายไป จึงต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นผู้ชาย  ข้าพเจ้าเห็นว่าชื่อรัชนีเป็นมงคลนามที่พ่อตั้งให้จึงชอบชื่อนี้มาก นามปากกา น. ณ ปากน้ำ เกิดที่ชาวกรุง  


ส่วนนามปากกาว่า พลูหลวงเกิดที่สยามสมัย  คุณเทพ จุลดุลย์ เพื่อนรักเป็นผู้ตั้งให้  ส่วนมูลเหตุแห่งการใช้ชื่อ    พลูหลวงถามคุณเทพดูแล้วเขาไม่ยอมให้เหตุผล เพียงแต่นึกอะไรขึ้นมาได้การตั้งส่งๆไปอย่างนั้น ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้ติดใจ ถือว่าเทวดาตั้งให้ก็พอใจแล้ว เขาชื่อเทพแปลว่า เทวดา  นามปากกาพลูหลวง นับว่าเป็นนามปากกาที่มีคนรู้จักมากที่สุด เพราะสมัยหลังใช้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง โหราศาสตร์โดยตรง แต่งตำราโหราศาสตร์สิบกว่าเล่มก็ใช้นามปากกานี้


ยังมีนามปากกาอีกอันหนึ่งคือ กเวล ชไนบูร  คุณประมูล อุณหธูป  ผู้ซึ่งข้าพเจ้าเคารพนับถือเหมือนพี่ชาย เป็นผู้ตั้งให้เช่นกัน ตอนนั้นเขียนเรื่องสั้นลง สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์  เรื่องนั้นชื่อ หมอลำ ตอนหลังเอาชื่อนี้มาเป็นนามสำหรับเซ็นใต้รูปเขียนขนาดใหญ่เรื่อง อิเหนากับ รูปหนุมานจองถนน  ซึ่งติดโชว์ในห้องโถงและห้องรับแขกไทยทีวีช่อง๔ บางขุนพรหมสมัยก่อน เขียนเสร็จก็เซ็นนาม กเวล ฃไนบูร นี้    ต่อมาคุณบุญถึง ฤทธิ์เกิด จัดรายการโทรทัศน์ ลวดลายพู่กัน ข้าพเจ้าเป็นผู้เขียนภาพวิจิตร  ตอนภาพสำเร็จแล้ว ก็ใช้นามปากกา กเวล ชไนบูร เช่นกัน แม้ภาพเขียนสมัยระหว่างปี พ.. ๒๕๐๒ - ๒๕๑๐  ล้วนแต่เซ็นนาม กเวล ขไนบูร ทั้งนั้น สมัยที่ยังสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปการนั้นได้เขียนภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่นับเป็นร้อยรูปเดี๋ยวนี้ไม่มีเหลือ ไม่ทราบว่าหายไปไหนหมด คงเหลือแต่เพียงรูปสีน้ำมันชื่อ จันทบุรีที่ได้รางวัลเหรียญทองเพียงรูปเดียว เดี๋ยวนี้ติดตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ




รูป จันทบุรีที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยม เหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ข้าพเจ้าไปเขียนบนยอดเขาที่บางกระจะ ไปกับดนัย ปฏิรูปานุสรณ์ เขาเป็นคนเมืองจันทน์ ตอนไปเขียนต้องหอบเฟรมไปเฟรมหนึ่ง แล้วปั่นจักรยานถึงยอดเขา ก็เขียนชุดนี้ขึ้นมา 10 กว่ารูป ตอนกลับขนขึ้นบนรถเมล์ เป็นรถเล็กๆ รูปมันใหญ่ก็มัดรวมกัน กระเป๋ารถไม่รู้ก็เหยียบแหลก สีน้ำมันยังไม่แห้ง มันก็พังหมด เหลืออยู่รูปเดียวที่ได้รับรางวัล  ซึ่งหลายรูปที่พังไปดีกว่านี้เยอะ และจริงๆแล้วรูปนี้ผมก็ไม่คิดส่งด้วย ตอนผมไม่อยู่รูปนี้ไปซุกอยู่ใต้บันใดโรงเรียนศิลปศึกษา อาจารย์สวัสดิ์ เห็นเข้าก็เอาไปส่ง


ช่วงระหว่างนั้น ถ้านับแล้วมีรูปขนาดใหญ่ขนาดภาพ จันทบุรีร้อยกว่ารูป ทั้งที่เคยแสดงในนิทรรศการของศิลปกรรมแห่งชาติ และที่จิตกร-ประติมากรของสมาคม ก่อนที่จะออกจากเลขาธิการมหาวิทยาลัยที่ศิลปากรตอนนั้น มีห้องเพ้นติ้งอยู่ห้องหนึ่งรูปเขียนทั้งหมดของผม เก็บอยู่ในโกดังไม้ห้องนั้น และระหว่างทำกำลังตระเวณศึกษาศิลปะโบราณสถานอยู่ตามต่างจังหวัด กลับมา ทราบภายหลังว่า เขารื้ออาคารไม้หลังนั้นทิ้งเพื่อสร้างตึก รูปเขียนเหล่านั้นมันก็เหมือนกรุแตกกระจัดกระจายหายไปหมดเลย อาจมีใครเอาไป หรือไม่พวกเด็กๆนักศึกษาฉีกรูปออกเอาแต่เฟรมไว้ขึงผ้าใบใหม่ หรือไม่ก็เอาสีพื้นทาทับไว้เขียนรูปของตัวเองกัน ผลงานช่วงนั้นจึงเสียหายหมด เหลือสองรูปเท่านั้นคือ จันทบุรีที่พิพิธภัณฑ์ศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์นั่นรูปหนึ่ง กับอีกรูปหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์ ที่ถนนเจ้าฟ้าเท่านั้น  ข้าพเจ้าก็เลยเกือบๆจะกลายเป็นคนไม่มีผลงานเลยตอนนั้น


การเขียนรูปนั้น ถนัดเท่าๆกัน ไม่ว่าจะเขียนดินสอ สีชอล์ก สีน้ำ สีฝุ่น สีน้ำมัน และ สีเทียน เคยได้รับรางวัลมาแล้วทุกประเภท เคยเขียนภาพพุทธประวัติภายในโบสถ์วัดป่าโคที่อยุธยา โดยเขียนคนเดียวทั้งโบสถ์จนสำเร็จ เดี๋ยวนี้ก็ยังปรากฎอยู่ นอกจากเขียนรูปก็ชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ  สมัยก่อนนั้นสะสมจานเสียงเพลงคลาสสิคจนเต็มบ้าน ตอนทีทำงานอยู่กลางคืนเปิดแผ่นเสียงลั่นบ้านทุกวัน จนหญิงกลางคนข้างบ้านหนวกหูต้องหนีไปบวชชี นัยว่าได้ทำบาปไว้แรงพอดู










ผมชอบงานที่มีการเคลื่อนไหว มีชีวิตชีวา ผมไม่ชอบอะไรที่ดูเหมือนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมจึงทิ้งร่องรอยของทีแปรงไว้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนิสัยผม เป็นคนรวดเร็ว อารมณ์ร้อนทำอะไรรวดเร็ว ไม่ใช้ประณีตสุขุม ลักษณะเหล่านี้ก็ออกมาในภาพเขียน ผมรู้สึกว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เสร็จสมบูรณ์ ผมจึงทำเท่าที่รู้สึกว่าแค่นี้พอ “   


โทนสี ผมชอบโทนสีสดใส เพราะผมมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสีสัน มองธรรมชาติด้วยความสดชื่น สบายใจ งานของผมส่วนใหญ่ไม่เน้นเรื่องราวมากนัก แต่เขียนตามแบบแผนการเขียนภาพ อย่างแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ คิวบิสซึ่ม มันเป็นสากล  สีสามารถบอกเจตนาของศิลปินได้ ถ้าให้คน ๒ คนมาวาดรูปเปลือยจะเห็นความแตกต่าง เช่น ภาพดรออิ้งเปลือยของแองเกรส เขาเขียนด้วยเส้นน้ำหนักที่อ่อนแก่ นุ่มนวล เห็นถึงจิใจละเมียดละไม นอกจากสีแล้ว เส้นก็ยังแสดงความเป็นตัวตนของศิลปินได้ด้วยอย่าง ปิคัสโซ่ จิตรกรชาวสเปน สมัยที่เขายังยากจน ภาพของเขาก็แสดงออกถึงความทุกข์ ใช้สีบลูส์เป็นหลัก เป็นบลูพีเรียดของเขา ต่อมาเขาประสบความสำเร็จ ภาพของเขาก็มีสีสันมากขึ้นเป็นโทนชมพู ที่เรียกว่า พิงค์ พีเรียด 


การเขียนหนังสือนั้น ถ้าเขียนหนังสือประจำปีมหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้นามปากกาว่า นายซีเนียร

เขียนวิจารณ์ศิลปะลงในหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ใช้นามปากกาว่า  ลุ่ม เจริญศรัทธา          คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้ตั้งนามปากกาให้

บางทีใช้นามปากกาปลอมเป็นฝรั่งคือ  เอ.พี.ฟิชเชอร์

เขียนบทความโหราศาสตร์ พยากรณ์ประจำเดือนในหนังสือรจนา ใช้นามปากกาว่า  โอสธี

สมัยที่เขียนบทความศิลปะเป็นประจำเดือนในหนังสือ กระดิ่งทอง ใช้ชื่อและนามสกุลจริง


















 ครูสอนโหราศาสตร์คนแรกชื่อ พระมหาอุทัย คำคงอยู่  มีสำนักอยู่วัดลาดบัวขาว สมัยแรกเรียนแบบโหราศาสตร์ไทยล้วนๆ เรียนการผูกดวงแบบมีสมผุสดาว เรียนกาลจักรลัคน์จรและอสีติธาตุ จำปีที่เริ่มเรียนไม่ได้ น่าจะเป็นปี ๒๕๐๓  เพราะปี ๒๕๐๔ เริ่มทายได้คล่องแคล่วแล้ว ทำไมจึงหันไปเรียนโหราศาสตร์


เพราะว่า ตลอดระยะเวลายาวนานที่ต้องรับเคราะห์กรรมอยู่นั้น  ได้ตระเวนไปหาหมอดูหลายต่อหลายคน โหรบางคนทายบางอย่างมีเค้าถูกต้อง บางคนมีชื่อเสียงมาก เคยเขียนบทความลงในหนังสือพยากรณ์สารของสมาคมโหร ทายปัญหาที่มีผู้ตั้งรางวัลไว้อย่างถูกต้อง บอกวันเวลาตายได้อย่างถูกเผง จนเลื่อมใสก็ไปปรึกษาและยืนยันเขาว่าเวลาเกิดของข้าพเจ้าถูกต้องแม้เศษนาที เพราะพ่อจดด้วยลายมือของท่านเอง ผลของคำพยากรณ์ไม่ถูกต้อง และผิดพลาดหมด เฝ้าคอยดูผลคำนายเป็นแรมเดือนไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลย ทำให้คิดได้ว่าก็คนที่เคยอวดตัวแสดงข้อเขียนต่อสารธารณชนและทายถูกต้องเป็นจับวางเช่นนั้นยังไม่อาจทายได้ถูกต้อง แม้แต่อนาคตใกล้ๆ  ยังไม่แน่ใจได้ชวนคนรู้จักไปดูกันอีก เพราะเขากำลังทุกข์ด้วยเรื่องหนึ่งแต่การทำนายกลับคลำไม่ถูก บางทีเขาผู้นั้นเองอาจมีหน้าม้าตั้งรางวัลไปยังพยากรณ์สารไปบ้าง จึงถูกต้องยิ่งกว่าตาเห็น ซึ่งพอมองเห็นเจตนาของกลโกง เพื่อประโยชน์ในการหากินและประโยชน์ในการเรียกลูกค้า เมื่อได้พิสูจน์แล้วเห็นว่าเหลวไหล ก็เลยหมดความเชื่อถือในโหราศาสตร์ แต่ตอนนั้นก็เริ่มจับตำราง่ายๆอ่านดูบ้างแล้วเป็นตำราโบราณของไทย ซึ่งกฎเกณฑ์เบสิกต่างๆ ล้วนแต่เป็นวิชาการอันมีเหตุผล จึงเกิดความคิดว่าควรจะเรียนเพื่อค้นหาความจริงเสียเองจะดีกว่า  จะเป็นวาสนาหรืออะไรก็ตาม พอดำริคิดจะเรียนก็พอดีไปหาอาจารย์มหาอุทัย ที่วัดลาดบัวขาว คุยกันถูกคอท่านก็เอ่ยปาก ถ้าอยากเรียนจะสอนให้


เรียนกับครูอยู่หลายเดือน จนผูกดวงได้ ท่องกฎเกณฑ์ตำแหน่งดาวต่างๆได้หมด และจับดวงคนรู้จักกันมาพิจารณณาดู ได้พบความจริงว่า ถ้าดูตามตำรานี่เป็นหลักใหญ่มักไม่ค่อยผิด ถอดตำราโบราณอยู่ ๕ ปีเต็มๆ ใช้เวลากลางคืนไปคุยกับอาจารย์มหาอุทัย การวิจารณ์ดวงบางทีก็โต้เถียงกันหน้าดำหน้าแดง แต่ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้ครูบาอาจารย์รักและเอ็นดู เถียงไปเถียงมาบางทีท่านก็คล้อยตามเราบ่อยๆ

ข้าพเจ้า เป็นคนแสวงหาความจริง เมื่อจับอะไรก็ไม่ยอมวางมือง่ายๆ ข้าพเจ้าถือว่าหมาไล่เนื้อ ถ้ามันกัดจมเขี้ยวแล้ว จะไม่ยอมปล่อย ไม่ว่าเรื่องไหน ทั้งประวัติศาสตร์หรือโหราศาสตร์ สมัยเมื่อยังเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร  ตอนนั้นศึกษาเรื่องหอยยักษ์ทะเล ในตู้ในห้องทำงานเก็บตัวอย่างหอยเต็มไปหมด เลยบ้าซื้อตำรับตำราสั่งจากต่างประเทศ ยังออกเดินทางสำรวจชายทะเล โดยกางเต้นท์ไปตลอดฝั่งทะเลตะวันออก เป็นการศึกษาเอาจริงเอาจังมาก และได้ค้นพบหอยตัวหนึ่งในเมืองไทยที่ชายหาดจันทบุรี เป็นหอยที่ชาวบ้านเรียก หอยพระจันทร์ แต่มีสันกลีบเรียงเป็นเกล็ดไปตลอดตามอายุปี เปลือกบอบบางสวยงามมากที่สุด ค้นตำราดูแล้ว พบว่ามีหอยชนิดนี้เพียงที่เดียวเท่านั้นที่ไมอามี่และอ่าวเม็กซิโก แม้ข้าพเจ้าย่ำไปทั่วชายหาดเมืองไทยทุกแห่ง ไปจนถึงสงขลา ภูเก็ต ไปยังเกาะพงัน เกาะไผ่ ไปมาจนหมดไม่เคยพบหอยชนิดนี้เลย จึงแปลกใจว่าทำไมมาผุดที่เมืองไทยได้ ได้ทะนุถนอมเปลือกหอยนี้เป็นพิเศษ อยู่ในตู้ก็ต้องรองกำมะหยี่ แต่ภายหลังเมื่อต้องออกจากราชการก็ต้องเอาหอยยัดใส่ลัง ตัวเองก็ระหกระเหินไปที่ต่างๆ การโยกย้ายข้าวของไปที่ต่างๆ ผลที่สุดก็หายหมดไม่มีเหลือ แม้แต่หอยตัวนั้น


เมื่อตำราชีววิทยาและสิ่งอันเป็นที่รัก ฉิบหายไปหมดไม่มีเหลือ จึงหมดกำลังใจ ตอนหลังหันไปมุมานะศึกษาประวัติศาสตร์โบราณวัตถุสถาน แล้วสุดท้ายหันมาจับโหราศาสตร์

ตอนที่จับโหราศาสตร์นั้น ไม่ได้ระหกระเหินไปที่ไหนอีกแล้ว เพียงแต่อยู่กับบ้านหาซื้อตำรับตำรา บางทีก็เที่ยวไปขอดูตำรับตำราเก่าแก่ตามที่ต่างๆ ของใดไม่มีก็ลงทุนไปขอลอกมาทั้งเล่ม สมัยนั้นเคร่งครัดตำราหนัก เวลาผูกดวงชะตาทีต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมง เพราะจะต้องคำนวณสมผุสดาว ท่าอินทภาส บาทจันทร์ กาลจักร ลัคน์จร นวางค์จักร พระเคราะห์รูป พระเคราะห์สมพงษ์ดวงตามเกณฑ์ต่างๆ 

จากการลอกดวงของจริงหรือจากหนังสือจากตัวอย่างในตำราที่คนอื่นนำเสนอ ข้าพเจ้ามองเห็นความเพี้ยนที่เกิดขึ้นทำให้ต้องศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของโหราศาสตร์ลึกไปจนถึงสมัยบาบิโลน   อียิปต์ ตลอดจนพวกมายัน…. จึงได้รู้ว่าสมัยเก่าแก่จริงๆ เขามีดาวเกษตรหรือเจ้าของราศีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น  ส่วนอีก ๕ ราศีถัดไปเป็นของประดิษฐ์ขึ้นใหม่สมัยหลัง พอทราบความจริง ก็นำ ดาวมฤตยู ดาวเนปจูน และ ดาวพลูโต มาใส่ในราศีถัดจากราศีมังกรของดาวเสาร์ เรียงตามลำดับของการอยู่ใกล้ไกลจากดาวอาทิตย์ ตามระบบของโบราณ เมื่อวางเกษตรตราหลักวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ก็ย้อนกลับมาทดสอบสถิติที่ค้นคว้าไว้ และพิจารณาตัวเพี้ยนที่ตั้งข้อสังเกตไว้ จึงรู้ความจริงว่า เพราะหลักการสมัยก่อนผิด จึงทำให้ทุกอย่างผิดหลักการไป


ทำไมผิด…. คุณอาจจะเถียง  เพราะดาวครองราศีทั้ง ไทย จีน อินเดีย ฝรั่ง เข้าใช้ตรงกัน  นั่นมันเป็นวิทยาการที่ลอกเลียนตามกันมา  ในสมัยที่มนุษย์ยังไม่ได้ค้นพบดาวพระเคราะห์อีก ๓ ดวง  เขาก็เลยเอาดาวพระเคราะห์ที่มีอยู่ ในครองราศีที่ว่างไว้ ซึ่งยังหาเจ้าของไม่พบ แต่เมื่อบัดนี้เราค้นพบแล้ว เหตุไฉน เราจึงไม่นำมันมาใช้ตามหลักการโบราณ


อันว่า อันทวาทศมณฑล  ได้แก่  เส้นทางวงแหวนของท้องฟ้า ที่โคจรรอบโลกอยู่เป็นวงกลมนั้นมีกลุ่มดาวสำคัญ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์อยู่ ๑๒ กลุ่ม  มองเห็นเป็นรูปต่างๆเช่น  รูปสิงโต ก็เรียกราศีสิงห์ ในสมัยหลายพันปีมานั้น เขาแบ่งท้องฟ้าวงกลมรอบโลกเป็น ๑๒ ส่วน เรียกว่า ๑๒ ราศี  แต่ละราศีมีดาวพระเคราะห์ คือ ดาวบริวาร ของดวงอาทิตย์ในสุริยะระบบ เป็นเจ้าของประจำราศี อาทิเช่น ราศีสิงห์ ดาวอาทิตย์ , ราศีกันย์ ดาวพุธ , ราศีตุลย์ ดาวศุกร์ , ราศีพิจิก ดาวอังคาร , ราศีธนู ดาวพฤหัสบดี , ราศีมังกร ดาวเสาร์     สมัยโบราณท่านวางดวงประจำราศีไว้เท่านั้นและให้ดาวจันทร์ครองราศี กรกฎ รวมเป็น ๗ ราศีด้วยกัน


แต่ถ้าเราสังเกตดู จะเห็นว่า นับแต่ราศีสิงห์มาเป็นดาวอาทิตย์ประธาน จนถึงราศีมังกร มีดาวเสาร์ไกลที่สุด สมัยก่อนเขารู้จักดาวพระเคราะห์เพียง ๗ ดวงเท่านั้น จึงนำมาตั้งเป็นชื่อวันประจำสัปดาห์ที่เราใช้กันเดี๋ยวนี้ ส่วนดาวมฤตยู เนปจูน พลูโต เพิ่งจะค้นพบกันเมื่อไม่ถึงครึ่งศตวรรษมานี้ และค้นพบโดยการส่องกล้อง และการคำนวณประกอบกัน จนสามารถหาตำแหน่งพบ  ดังนั้นตามหลักการของโบราณที่วางไว้ เราจึงต้องให้ ดาวมฤตยู ครองราศีกุมภ์ถัดไป  ราศีมีนดาวเนปจูน และ ราศีเมษดาวพลูโตเป็นดาวเจ้าเรือน เพราะอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับ


ข้าพเจ้าเคยยืนยัน ทฤษฎีนี้ ลงในหนังสือ พยากรณ์สารของสมาคมโหรฯ พร้อมตัวอย่างการพิสูจน์ดวง อันได้ผลแม่นยำกว่าเดิม แต่ปรากฎว่าโหรหัวเก่าต่างด่าว่า  แม้โหรสากลหัวใหม่ซึ่งเชื่อถือตำราฝรั่ง ก็โจมตีผม เพราะตำราฝรั่ง เขาวางเนปจูนเป็นเจ้าเรือนราศีธนู และ พลูโตครองราศีพิจิก  โหรฝรั่งรุ่นใหม่สมัยนั้น ยังไม่เข้าใจกฎเกณฑ์การวางดาวเจ้าเรือนราศี ที่เรียกว่า ดาวเกษตรดีพอ จึงต่างยึดเอาว่า พลูโตอยู่ในราศีพิจิก อย่างไม่ยอมลืมหูลืมตา  ต่อมาฝรั่งก็ค้นพบว่า เนปจูนต้องเป็นเจ้าเรือนราศีมีนแน่นอน ด้วยมีสถิติที่พิสูจน์เห็นจริงแล้ว จนอีก ๒-๓ ปี ก็มีโหราจารย์ชาวยุโรป เอาพลูโตไปเป็นเจ้าเรือนราศีเมษ ซึ่งก็มีสถิติยืนยันว่า แน่นอนและแม่นยำเช่นกัน


ข้าพเจ้ามีเอกสารยืนยันได้ว่า ได้ค้นพบความจริงอันนี้ก่อนใครในโลกหลายปี และได้เขียนผลการค้นคว้าอย่างละเอียด มีหลักฐานในเอกสารของสมาคมโหรแห่งประเทศไทย  แต่นั้นแหละครับ  วิสัยคนไทยมักนิยมฝรั่งเป็นเทพเจ้า จึงไม่มีใครฟังเสียงข้าพเจ้า 

จนบัดนี้ แม้ฝรั่งจะดำเนินตามที่ผมค้นคว้าไว้ ก็ไม่เห็นมีใครพูดถึง ข้าพเจ้าเคยเขียนตำราการพยากรณ์ และ ผลการค้นคว้าโหราศ่าสตร์ ออกจำหน่ายหลายเล่มซึ่งมีผู้สนใจ และพิสูจน์ตามที่เขียนไว้ เดี๋ยวนี้เริ่มหันมาใช้ตามวิธีการของข้าพเจ้า

ดวงผม ลัคนาอยู่ราศีตุลย์ ถึงอ้วน และลัคนาอยู่กับพุธ พุธเป็นดาววินาศมาจากภพ วินาศ แปลว่า เร้นลับไม่เปิดเผย ผมจึงมีชื่อเสียงโด่งดัง โดยคนไม่รู้จักตัว บางทีไปยืนดูเขาวิจารณ์โหราศาสตร์กัน เขาก็ไม่รู้ว่า พลูหลวงมายืนดู 





“………… ผมเริ่มฝึกสมาธิ กับสำนักวัดปากน้ำ กับอาจารย์วีระ เบญจาธิกุล  และ อาจารย์เปล่ง โกมลจันทร์  ซึ่งเดี๋ยวนี้ท่านบวชเป็นพระแล้ว ผมก็เรียนไปจนได้เห็นพระธรรมกายพระธรรมกายในความรู้สึกของผมคือนิมิตที่เราเห็นเป็นศูนย์กลางของร่างกายเราเห็นเป็นองค์พระ หรือเป็นดวงแก้วใสขนาดเท่าลูกบิลเลียดหรือลูกพุทรา แล้วแต่กำลังวาสนาของคนแต่ละคน บางคนก็เห็นลูกนิดเดียวขนาดเหรียญบาทใสๆ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณเปล่ง ซึ่งตอนนั้นแกก็เป็นหนุ่มโสด ชอบสันโดษ ก็ไปเช่าบ้านอยู่ที่อยุธยา ใกล้กับโรงเรียนฝึกหัดครูเก่า บ้านนั้นเป็นเรือนไทยโบราณกว้างมากแล้วเงียบดี แกก็ชวนผมไปด้วย ไปหัดสมาธิกัน  ทีนี้วันหนึ่งก็นั่งคุยกันสองคนว่า เอ..เจดีย์เก่าๆ เขาก็ขุดกันมาหมดแล้ว มีแต่เจดีย์ศรีสุริโยทัย ท่าทีไม่โดนขุดเลย ของต่างๆมันถูกขุดมาหรือยัง  คุณเปล่งบอก จะยากอะไรลองดูกันดีกว่า ผมก็บอกดีเหมือนกัน ก็เลยนั่งสมาธิพร้อมกันสองคน เพ่งจิตไปที่ตัวเจดีย์ศรีสุริโยทัย แต่ตัวเรานั่งอยู่ในบ้านเรานะ  ก็เพ่งไปที่องค์ระฆังเจดีย์ก็ไม่เห็นมีอะไร ลงมาข้างล่างพบกรุห้องใหญ่ ปรากฎมีสมบัติเต็มไปหมด เป็นเครื่องทรง เครื่องอะไรต่างๆของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย อยู่ใต้เจดีย์ คนส่วนมากเข้าใจว่ากรุอันนั้นอยู่ที่ตัวเจดีย์ ก็คงมีคนขุดเหมือนกันแต่ไม่พบ  ในห้องนั้นผมพบงูอยู่ตัวหนึ่งสีขาว คล้ายงูเผือก และยังมีบริวารงูอีกยั่วเยื้ยเต็มไปหมด  ผมก็ถามคุณเปล่ง ซึ่งคุมสมาธิอยู่ว่า เห็นแบบผมหรือเปล่า เขาก็พยักหน้าว่าใช่ ก็ถาม เอ..งูขาวๆที่เห็นทำไมตัวเล็กนิดเดียว คุณเปล่งบอกว่า อันนี้มันเป็นกายทิพย์เขา พญานาคนะนั่นไม่ใช่งู เขาเฝ้าสมบัติอยู่ ถ้าอยากดูตัวก็ได้ เดี๋ยวเขาจะมาหา คุณไปเข้านอนเถอะนี่มันสามทุ่มกว่าแล้ว ผมก็เข้าไปอีกห้องหนึ่ง ส่วนคุณเปล่งก็สวดมนต์ทำวัดของแกอยู่ยังไม่เข้านอน

ผมก็เข้านอนเลยเพราะง่วงมาก วันนั้นเดินมาทั้งวันเลยเพลียหลับไป รู้สึกว่ามีอะไรมารัดตัวอยู่ ก็ลืมตาเห็นพญานาคตัวใหญ่ขนาดลำตัวกว้างตั้งเมตรหนึ่ง เข้ามาเลื้อยเต็มห้องเลย เกล็ดเป็นสีทองคล้ำๆออกน้ำตาล ไม่ใช่สีเขียวๆอย่างที่เราเห็นในภาพเขียน ตรงหน้ามีหงอนใหญ่เขียว หน้าตาน่ากลัว ตางี้รู้สึกจะสีแดงๆ ตอนนั้นผมก็ยังฝึกสมาธิไม่เก่งไม่ค่อยมีความรู้ เพิ่งได้ธรรมกายใหม่ๆ ผมใช้คาถาไล่ให้เขาไป พยายามทำสมาธิเอาดวงพระธรรมกายเข้าครอบไว้ก็ไม่ไปยังรัดอยู่

ในที่สุดผมเลยปล่อยวางเฉย ปล่อยให้พระธรรมกายครอบตัวรักษาผมอยู่ คือกลัวว่าเขาจะรัดเข้ามาอีกเดี๋ยวเราจะหายใจไม่ออก สักครู่เขาก็คลายตัวหายไป ผมก็เลยรีบลุกขึ้นออกมาเห็นคุณเปล่งยังนั่งทำวัตรอยู่เลย ผมก็ไปบอกว่าเนี่ยเขามาจริงๆตัวใหญ่มากมีเกล็ด คุณเปล่งบอกว่า เดี๋ยวคุณนอนเขาก็มาเอาคุณอีก คุณไปไล่เขาใช่ไหม..ไม่ได้หรอก นั่นเขาเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอาราธนาให้มาเผ้าสมบัติ แล้วเรานี่เพิ่งฝึกสมาธิไปยังมีฤทธิ์ไม่พอ จะขับไล่เขาไม่ได้หรอก เขาไม่ให้ไล่ อันนี้เราต้องแผ่เมตตาเป็นอันเสร็จพิธี     ก็คงเพราะพญานาคตัวนี้กระมังที่คอยเฝ้ากรุมหาสมบัติในเจดีย์องค์นี้ ถึงได้ไม่มีใครสามารถกล่ำกรายเข้าไปลักขโมยออกมาได้ หรือถ้าใครอยากเจอดีก็เชิญเถอะ ..”

การฝึกจิตตามหลักพระพุทธศาสนา ต้องมีหลักเกณฑ์และมีจุดหมายที่โลกุตรธรรม ในคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค การฝึกจิตมีตั้ง ๔๐ วิธี วิธีหนึ่งที่นิยมคือ เพ่งซากศพ ให้จิตใจเราเห็นว่าคนเราเมื่อก่อนร่างกายสวยงามแล้วผลสุดท้ายตายไป ร่างกายเน่าเปื่อย สลายไป จิตที่มันเคยทะนงว่าเราเป็นคนโตมีเกียรติ มีฐานะก็จะดร๊อปลง เราก็เห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรจะไปยึดติด ไอ้จิตที่มันเคยทะนงตัวก็คลายลง พอมันดร๊อปลงมันก็เริ่มเข้าสู่จุดนิ่ง เข้าสู่สมาธิ..”

สำหรับผมฝึกมาหลายอย่างหลายวิธี เช่น ฝึกกษิณ คือการเพ่งตามหลักโบราณเขาหาหม้อดินจนติดตา แล้วหลับตาก็ยังเห็นปากหม้อนั้นอยู่ จิตก็จะได้เกาะสิ่งนั้นเป็นหนทางทำให้จิตเป็นสมาธิ ถ้าเราเพ่งดูวงกลมจนนิ่งแน่วแน่แล้วหลับตา ก็ยังเห็นอยู่สิ่งที่เห็นนั้นแหละคือ นิมิตเทียม ยิ่งเห็นนานเท่าไหร่ยิ่งดี ผลที่ได้รับคือจิตเป็นสมาธิ จะเกิดนิมิตแท้ขึ้นมา แล้วจะกลายเป็นวงใสเหมือนแก้ว เหมือนดวงจันทร์ จากนิมิตแท้เราก็เพ่งตรงกลาง ตามหลักเขาว่าอย่าฟุ้งซ่านไปทางอื่น เมื่อจิตเป็นหนึ่งแล้วเราก็สามารถอธิษฐานทำอะไรก็ได้ รักษาโรคก็ได้ อยากทราบอะไรก็จะเห็น วิธีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า โลกียฌาน

การฝึกจิตถึงขั้นโลกียฌานนี้ บางทีให้โทษก็มี เพราะว่าการฝึกจิตจนสำเร็จได้ฌานขั้นนี้ เช่น จับของร้อนได้ หรืว่าคงกระพันชาตรี พระพุทธเจ้าท่านบอกมันเสื่อมได้ เพราะฉะนั้นการฝึกจิตเราจะถือว่าเป็นของดีนักก็ไม่ได้ มันเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตอย่างหนึ่ง คือ เมื่อเราฝึกแล้วเป็นการตะล่อมจิตให้เป็นเอก จิตก็เลยมีพลังขึ้นมา

แต่การฝึกจิตถึงขั้น โลกุตระ พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าต้องมี ๓ ระดับ  คือ ศีล สมาธิ ปัญญา  หมายถึงว่าคนเราต้องวางรากฐานตัวเองให้มีศีลก่อน เมื่อมีศีลแล้วทำสมาธิ เมื่อทำสมาธิแล้วนิมิตทีเกิดมันบริสุทธิ์ ไม่มีอามิส ไม่มีความหลอกลวง แล้วปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นของแท้ ไม่ใช้ของหลอกลวง  คือ สมาธิ  ปัญญา เป็นหลักการของพุทธศาสนา เป็นรากฐานสำคัญที่จะก้าวไปสู่โลกุตรธรรม…”



สุขภาพไม่ค่อยดี เริ่มจากความดันโลหิตสูง เป็นโรคหัวใจต้องทำบอลลูน มาสุดท้ายนี้หัวใจล้มเหลว พอล้มเหลวน้ำก็ท่วมหัวใจ ต่อมาก็ลามมาท่วมปอด  รอวันตาย  อายุ ๗๒ ปีแล้ว ถือว่าเฒ่าแล้ว จะให้แข็งแรงไม่ได้



นายประยูร อุลุชาฎะ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
ประจำปีพุทธศักราช 2535

คำประกาศเกียรติคุณ
นายประยูร อุลุชาฎะ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

นายประยูร อุลุชาฎะ เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2471 ที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นศิลปินที่มีความสามารถเป็นพิเศษ ในด้านจิตรกรรมแบบเก่าและแบบใหม่ เป็นผู้บุกเบิกจิตรกรรมแบบใหม่และอนุรักษ์จิตรกรรมแบบเก่า เป็นทั้งศิลปินและนักวิชาการ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่อเนื่อง ตลอดมาเป็นเวลามากกว่า 50 ปี ผลงานเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะและสถาบันศิลปะ มีผลงานในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ การแสดงศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของไทยในต่างประเทศ และติดตั้งถาวรในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ และได้รับปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จากการอุทิศตนให้กับการสร้างสรรค์และอนุรักษ์ศิลปะเป็นเวลาอันยาวนาน คุณค่าของผลงานศิลปะและวิชาการของนายประยูร อุลุชาฎะ แสดงถึงความมีคุณธรรมและจริยธรรม จึงได้รับการยอมรับนับถือเป็นปูชนียบุคคลในวงการศิลปะและวิชาการ และในฐานะศิลปินคนสำคัญที่ยังสร้างสรรค์ และอุทิศตนให้กับสังคมในปัจจุบัน เป็นตัวอย่างที่ดีงามแก่อนุชนรุ่นหลัง
นายประยูร อุลุชาฎะ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2535


ประวัติชีวิตและผลงาน
นายประยูร อุลุชาฎะ*
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
นายประยูร อุลุชาฎะ เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2471 ที่คลองมหาวงศ์ ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นศิลปินคนสำคัญของชาติยุคบุกเบิกศิลปะยุคใหม่ของไทย ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือเป็นปูชนียบุคคลในวงการศิลปะและวิทยาการอย่างกว้างขวาง
นายประยูร อุลุชาฎะ สนใจศิลปะตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมแล้ว ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเพาะช่าง เมื่อ พ.ศ. 2486 รุ่นเดียวกับอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ และได้เข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรกับท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์อื่นๆ เป็นเวลา 3 ปี ได้รับอนุปริญญาศิลปบัณฑิตด้านจิตรกรรมและประติมากรรม พ.ศ. 2492 หลังจากนั้นได้ศึกษาเพิ่มเติมในด้านจิตรกรรมกับท่านศาสตราจารย์ศิลป์อีก 2 ปี จนมีความรู้และความสามารถในทางทฤษฎีและปฏิบัติศิลปะเป็นอย่างดี สร้างสรรค์ผลงานด้านจิตรกรรมและงานวิชาการศิลปะเผยแพร่ต่อประชาชน หลังจากที่ได้ศึกษาวิชาศิลปะและวิชาช่างมาเป็นเวลา 8 ปี



นายประยูร อุลุชาฎะ เป็นศิลปินหัวใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้อนุรักษ์ศิลปะโบราณควบคู่กันไป เป็นทั้งศิลปินและนักวิชาการ ในลักษณะเดียวกับท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เป็นครู ทำงานศิลปะหลายแบบและเทคนิคเพื่อการทดลองและบุกเบิกยุคแรกๆไม่ว่าจะเป็นงานแบบเรียลลิสม์ อิมเพรสชั่นนิสม์ คิวบิสม์ เซอร์เรียลลิสม์ และแบบนามธรรมได้ทดลองทำมาหมด ในด้านเทคนิคนั้นได้เขียนสีชอล์ก สีฝุ่น สีน้ำมัน และสีน้ำ และเขียนได้ดีทุกเทคนิค และมีความสามารถชั้นครู เป็นผู้ที่มีความสามารถใช้สีได้ดีเยี่ยมในทางจิตรกรรม นอกจากนี้ยังเขียนภาพจิตรกรรมแบบประเพณีนิยมด้วย นายประยูร อุลุชาฎะ กล่าวว่า ได้เขียนภาพมากในช่วง พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2500 เป็นจิตรกรรมสีน้ำมันมีขนาดกว้างเมตรขึ้นไป และมีจำนวนนับร้อยภาพ เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ผลงานเหล่านี้เก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรรื้ออาคารเพื่อสร้างใหม่ ผลงานได้กระจัดกระจายไป เสียหาย สูญหาย และมี นักศึกษาเอาไปเขียนทับ นับว่าเป็นการสูญเสียผลงานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ไปนับร้อยภาพ ผลงานยุคนี้มีเหลือให้ชมและศึกษาได้ไม่กี่ภาพ ที่สำคัญที่สุด คือ จิตรกรรมสีน้ำมัน ชื่อ จันทบุรี เป็นผลงานจิตรกรรมแบบโพสท์อิมเพรสชั่นนิสม์ของไทย มีเนื้อหาสาระไทย ที่มีอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังตั้งแต่สมัยนั้นจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันภาพนี้แสดงถาวรในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ กรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร ผลงานบุกเบิกที่สำคัญอีกภาพหนึ่งคือภาพชื่อ ยุคมืด เป็นภาพวาดเอรีรงค์ เป็นแนวผสมผสานแบบคิวบิสม์ และเซอร์เรียลลิสม์ ในเนื้อหาสาระไทยซึ่งนับว่าเป็นผลงานที่บุกเบิกและก้าวหน้ามากในยุคนั้น และมีผลงานบุกเบิกอีกภาพหนึ่งคือจิตรกรรมชื่อ ซิมโฟนี อิน เยลโลว์ ซึ่งอยู่ในแบบนามธรรม เป็นผลงานที่ก้าวหน้าที่สุดของยุคนั้น เพราะกว่าศิลปินอื่นจะเริ่มทำงานแบบนามธรรมก็เมื่อ 12 ปี ผ่านมาแล้วต้องถือว่านายประยูร อุลุชาฎะ เป็นผู้บุกเบิกในด้านจิตรกรรมนามธรรม
หลังจาก พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา นายประยูร อุลุชาฎะ ได้เลือกแนวทางอิมเพรสชั่นนิสม์ในการสร้างสรรค์จิตรกรรมสีน้ำมัน สีน้ำ สีชอล์ก นอกจากนี้มีผลงานจิตรกรรมแบบประเพณี และแบบผสมผสานประเพณีกับแบบใหม่ ที่ทำในระยะหลังสุดนี้ คือจิตรกรรมสีน้ำซึ่งเป็นผู้มีความสามารถยอดเยี่ยมผู้หนึ่ง สามารถเขียนสีน้ำบางๆ สีสะอาด ให้ความงามหรือสุนทรียะเป็นอย่างมาก เป็นฝีมือชั้นครูที่ทำอยู่ตลอดเวลา และทำถึงขั้นสุดยอดของสีน้ำ นายประยูรฯ ได้กล่าวถึงเรื่องจิตรกรรมสีน้ำไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2511 ข้าพเจ้าเขียนรูปสีน้ำอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเห็นว่าอุปกรณ์ต่างๆ ขนไปง่าย สะดวกดี ไม่ลำบากเหมือนเขียนสีน้ำมัน ข้าพเจ้าไปเขียนที่ด้านเกวียน ชายทะเล ลำน้ำเจ้าพระยา ฯลฯ งานเหล่านี่ได้จัดแสดงอย่างน้อย 20 ชิ้น ร่วมกับผู้อื่นที่พญาไทแกลเลอรี่ (บัดนี้ล้มไปแล้ว) การแสดงครั้งนั้นได้รับการกล่าวขวัญกันในด้านเทคนิคสีน้ำ ซึ่งข้าพเจ้าเขียนได้อย่างสมใจนึก ประจวบกับเป็นระยะที่ทุ่มเทให้การเขียนรูปอย่างจริงจัง

 





นายประยูร อุลุชาฎะ ได้แสดงผลงานตั้งแต่ พ.ศ. 2488 ที่สำคัญที่สุด คือ ได้ส่งผลงานเข้าร่วมในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ตั้งแต่ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2493 ผลงานได้รับการคัดเลือกและได้รับรางวัลหลายครั้ง รางวัลสูงสุดคือ ภาพชื่อ จันทบุรี ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2498

และในฐานะที่เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญ มักจะได้รับเชิญไปแสดงผลงานในการแสดงของกลุ่มต่างๆ เสมอ ผลงานที่มีชื่อ จันทบุรี ได้รับเลือกแสดงในการแสดงศิลปะร่วมสมัยของไทยในต่างประเทศที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ พ.ศ. 2528 ได้มีการรวบรวมผลงาน 30 ปี ของนายประยูรฯ แสดงที่โรงแรมมณเฑียร เมื่อ พ.ศ. 2527 เมื่อครั้งอายุครบ 60 ปี ได้มีการจัดแสดงผลงานย้อนหลังให้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เมื่อ พ.ศ. 2531 นับว่าเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับศิลปินที่ได้รับจากสถาบันของรัฐ และผลงานของนายประยูรฯ ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัยของไทยเกือบทุกเล่ม ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกและให้อิทธิพลแก่ศิลปินรุ่นหลังทำให้มีวิวัฒนาการในทางศิลปะแบบใหม่







นอกจากงานสร้างสรรค์ศิลปะแล้วนายประยูร อุลุชาฎะ ได้ทำงานด้านการอนุรักษ์ศิลปะโบราณไว้ทั้งในด้านปฏิบัติและการเขียนหนังสือภาพคัดลอกจิตรกรรมไทยที่ทำขึ้นในช่วงที่ศึกษาค้นคว้าที่จังหวัดพระนครศรี อยุธยา ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และยังได้เขียนภาพพุทธประวัติภายในพระอุโบสถของวัดป่าโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2517 เป็นจิตรกรรมสีฝุ่นบนผนัง และศึกษาค้นคว้าที่โบราณสถานอยุธยาเป็นเวลา 5 เดือนเต็ม เพื่อเขียนหนังสือชื่อ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2509 ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับศิลปะประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยมากกว่า 60 เล่ม เกี่ยวกับจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทย เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการและผู้สนใจในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเป็นนักเขียนในนาม น. ณ ปากน้ำ ได้เขียน พจนานุกรมศิลปะ พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2515 ซึ่งนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศจะใช้ผลงานของท่านเป็นประโยชน์ต่อการสอนและการวิจัยจนถึงปัจจุบันนี้


ตำแหน่งงานราชการ
            - ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนศิลปศึกษา (เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร) ปัจจุบันคือ วิทยาลัยช่างศิลป เมื่อ พ.ศ. 2497
            - ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2499
            - ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมจิตรกรประติมากรสมาคมแห่งประเทศไทย

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ. 2509 - ได้รับทุนมูลนิธิเอเซีย สำรวจอยุธยา 5 เดือน
พ.ศ. 2525 - เป็นกรรมการคัดเลือกและตัดสินงานการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 28
พ.ศ. 2526 - ปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ประยุกต์ศิลป์) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. 2527 - ประกาศเกียรติคุณ ศิลปินอาวุโส ของมูลนิธิหอศิลป
พ.ศ. 2528 - กรรมการคัดเลือกและตัดสินสาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 31
พ.ศ. 2529 - กรรมการคัดเลือกและตัดสินสาขาประติมากรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 32
พ.ศ. 2530 - รับพระราชทานกิตติบัตรในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมงานศิลปะสถาปัตยกรรมของ สมาคมสถาปนิกสยาม
                   ในพระบรมราชูปถัมภ์
                 - ได้รับรางวัลชมเชย วันสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เรื่อง ฝรั่งในศิลปะไทย
พ.ศ. 2532 - เป็นกรรมการคัดเลือกและตัดสินงานศิลปกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 35
                 - ได้รับยกย่องเป็นผู้สนับสนุนดีเด่นในการอนุรักษ์มรดกไทย จากคณะกรรมการวันอนุรักษ์มรดก ไทย
พ.ศ. 2534 - ได้รับยกย่องเป็นนักศึกษาเก่าดีเด่น ของมหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. 2535 - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) จาก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
                     เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2535
                  - ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป เรื่อง
                      ชุด จิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย วัดไชยทิศ ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
                  - ได้รับโล่เกียรติคุณนักศึกษาดีเด่น เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. 2536  - ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ 4 ชื่อ จัตุรถาภรณ์
                  - ได้รับรางวัลวรรณกรรมไทยชมเชย ประเภทร้อยแก้ว เรื่อง พุทธประติมากรรมในประเทศไทย
                      ของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ
พ.ศ. 2537 - ได้รับรางวัลดีเด่นในการประกวดหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป เรื่อง
                     ศิลปะวิเศษ สยามประเทศ : สุดยอดศิลปะในสายตาศิลปินแห่งชาติ ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือ แห่งชาติ
                       กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2538  - ประกาศเชิดชูเกียรติ ปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรมไทย เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย
                  - ได้รับรางวัลวรรณกรรมไทย รางวัลชมเชยประเภทร้อยแก้ว เรื่อง วิวัฒนาการลายไทย ของ มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ
                  - ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป เรื่อง
                “ชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย วัดคงคาราม ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2539 - ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป เรื่อง
               “ชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย วัดโสมนัสวิหาร ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือ แห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2540 - ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป
                     เรื่อง ชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย วัดสุทัศน์เทพวราราม ของ
                     คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2541 - ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป
                     เรื่อง ชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย วัดบางขุนเทียนใน ของ
                     คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ 
พ.ศ. 2542  - ปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ทฤษฎีศิลป์) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
                  - ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป เรื่อง สมุดภาพประวัติศาสตร์ศิลปะสยาม ประเทศ :
                      ศิลปะก่อนกรุงศรีอยุธยา ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2544 - ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป เรื่อง
               “ชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย พระที่นั่งทรงผนวช และ สมุดภาพประวัติศาสตร์ศิลปะ สยามประเทศ :
                      ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ




การแสดงศิลปกรรมและรางวัล
พ.ศ. 2493 - รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดง (มัณฑนศิลป์) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2
พ.ศ. 2496 - รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดง (จิตรกรรม) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 4
พ.ศ. 2498 - รางวัลที่ 1 เหรียญทอง (จิตรกรรม) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6
พ.ศ. 2499 - รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดง (จิตรกรรม) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 7
พ.ศ. 2503 - รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดง (จิตรกรรม) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11
พ.ศ. 2506 - แสดงศิลปกรรมเป็นชุดสีน้ำล้วนๆ ที่พญาไทแกลเลอรี่ ร่วมกับศิลปินหลายคน
                    และยังแสดง ศิลปกรรมร่วมกับจิตรกร-ประติมากร สมาคมในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอีกหลายครั้ง
พ.ศ. 2524 - วันที่ 8 กันยายน แสดงภาพสีน้ำ 4 ชิ้น ที่สถาบันเยอรมัน ในงานที่ระลึก ศิลป์ พีระศรี
พ.ศ. 2525 - แสดงภาพสีน้ำ 2 ชิ้น ในงานวันเปิดธนาคารแห่งประเทศไทย
                 - แสดงภาพสีน้ำ ร่วมรับเชิญจาก จิตรกรสีน้ำ กลุ่มไวท์
                 - ส่งภาพสีน้ำไปร่วมแสดงกับจิตรกรไทยอื่นๆ ที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์
                 - ร่วมกับศิลปินอื่นๆ ส่งภาพพอตเทรตไปแสดง 3 ชิ้น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2526 - แสดงภาพสีชอล์ก 3 ชิ้น ในงานนิทรรศการภาพเขียนฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่ศาลาพระ เกี้ยว
                    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                 - ศิลปกรรมหลัง พ.ศ. 2475 ที่ธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2527  - ศิลปกรรมร่วมสมัย 27 ที่ River City
                  - นิทรรศการเดี่ยวจิตรกรรมภาพถ่ายในรอบ 30 ปี ของ น. ณ ปากน้ำ ที่ โรงแรมมณเฑียร
                      พ.ศ. 2530  - การแสดงศิลปกรรมที่ The Artist Gallery
                 - การแสดงศิลปกรรมรำลึกถึง สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
                - วันเกิดศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี 95 ปี ที่ศูนย์สังคีตศิลป์
พ.ศ. 2531 - การแสดงผลงาน เนื่องในโอกาสวันเกิด 5 รอบนักษัตร ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
พ.ศ. 2535 - การแสดงงานเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปี 2535 73 ศิลปินศิษย์ศิลป์ พีระศรี
                    ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
พ.ศ. 2536 - การแสดงงานที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติประเทศไทย
พ.ศ. 2537 - การแสดงนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
ผลงานทางวิชาการ
ชุดศิลปะและโบราณคดี
            - บันไดเข้าถึงศิลป
            - เรื่องน่ารู้จากอดีต
            - รอยอดีต
            - เรื่องราวของศิลปและศิลปิน
            - ความงามในศิลปะไทย (ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสือ 1 ใน 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน)
            - ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา
            - ศิลปปริทัศน์
            - แนะนำศิลปสากล
            - เที่ยวชมศิลป
            - ศิลปรส
            - ศิลปในบางกอก
            - สารจากนครพิงค์ถึงบางกอก (เล่ม1, 2)
            - ศิลปโบราณของไทย
            - จิตรกรรมสมัยอยุธยาจากสมุดข่อย
            - ชมศิลปในอินเดีย
            - ประเพณีไทยต่างๆ
            - ศิลปะแห่งอาณาจักรไทยโบราณ
            - ศิลปกับโบราณคดีในสยาม
            - ศิลปในกรุงเทพมหานคร
            - ศิลปะลายรดน้ำ
            - ศิลปกรรมโบราณในสยามประเทศ
            - คำถาม - คำตอบเรื่องศิลปะไทย
            - ศิลปะบนใบเสมา
            - วิวัฒนาการลายไทย
            - จิตรกรรมรัตนโกสินทร์สองร้อยปี
            - เที่วชมศิลปะยุโรปกับ น. ณ ปากน้ำ
            - ประวัติจิตรกรเอกของโลก
            - ศิลปไทยตามวัด
            - ศิลปของพระพุทธรูป
            - พจนานุกรมศิลป์
            - เที่ยวเมืองศิลปะอู่ทอง
            - ศิลปแห่งอดีตสมัย
            - ความเป็นมาของสถูปเจดีย์ในสยามประเทศ
            - ศิลปะอยุธยา
            - ประวัติจิตรกรรมมอเมริกัน
            - สารจากกรุงเทพถึงธนบุรี
            - ศาสนาและศิลปในสยามประเทศ
            - เปิดกรุศิลปิน
            - ลายปูนปั้นมัณฑนศิลป์อันเลิศแห่งสยาม
            - พุทธประติมากรรมในประเทศไทย
            - สยามศิลปะ จิตรกรรม และสถูปเจดีย์
            - หลักการใช้สี
            - สังสรรค์ศิลป์
            - ตำลาศิลปะไทยรัตนโกสินทร์
            - ฝรั่งในศิลปะไทย
            - ศิลปะคุปตะและปาละของอินเดีย
            - ศิลปะจีนและคนจีนในไทย
            - หลักการวาด
            - องค์ประกอบศิลป์ เล่ม 1
            - แบบแผนบ้านเมืองในสยาม
            - เมืองสุโขทัยนี้ดี (น. ณ ปากน้ำ, รศ. ดร. ธิดา สาระยา)
            - ความเข้าใจในศิลปะ
            - เรื่องสนุกโบราณคดี
            - พระอาจารย์นาค ธนบุรี
            - สกุลช่างนนทบุรี นนทบุรี
            - วัดบางแคใหญ่ สมุทรสงคราม
            - วิวัฒนาการลายไทย
            - ศิลปะและวัฒนธรรมจากดินแดนอาหรับเมื่อแรกเข้าสู่สยามประเทศ
            - ศิลปะวิเศษสยามประเทศ สุดยอดศิลปะไทยในสายตาศิลปินแห่งชาติ
            - ศิลปะโบราณในสยาม (รวมบทความที่ลงในวารสารเมืองโบราณ ปี พ.ศ. 2517 - 2532)
            - คันธาระแหล่งปฐมกำเนิดพระพุทธรูปพระเจ้ามิลินท์ และพระนาคเสน
            - สยามศิลปะ จิตรกรรม และสถูปเจดีย์
            - สมุดภาพประวัติศาสตร์ศิลปะสยามประเทศ : ศิลปะก่อนกรุงศรีอยุธยา
            - สมุดภาพประวัติศาสตร์ศิลปะสยามประเทศ ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา
            - จิตรกรรมเล่าเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
            - ชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย
            - วัดประดู่ทรงธรรม อยุธยา
            - วัดเกาะแก้วสุทธาราม เพชรบุรี
            - วัดภูมินทร์และวัดหนองบัว น่าน
            - สีมากถา สมุดข่อยวัดสุทัศน์เทพวราราม
            - วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ
            - วัดทองธรรมชาติ กรุงเทพฯ
            - พระที่นั่งทรงผนวช กรุงเทพฯ
            - วัดเขียน อ่างทอง
            - วัดบางขุนเทียนใน ธนบุรี
            - พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรุงเทพฯ
            - วัดสุวรรณาราม ธนบุรี
            - วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ
            - วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
            - วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ
            - วัดคงคาราม ราชบุรี
            - วัดไชยทิศ กรุงเทพฯ
            - วัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพฯ
            - วัดดุสิดาราม กรุงเทพฯ
            - วัดใหม่เทพนิมิตร กรุงเทพฯ
            - วัดใหม่อินทราราม ชลบุรี
            - วัดราชสิทธาราม กรุงเทพฯ
            - วัดไชยทิศ กรุงเทพฯ
            - วัดช่องนนทรี กรุงเทพฯ
            - วัดมัชฌิมาวาส สงขลา
            - จิตรกรรมสมัยอยุธยาในสมุดข่อย
            - ครูคงแป๊ะ ครูทองอยู่

ชุดโหราศาสตร์
            - โหราศาสตร์
            - เคล็ดลับในการให้ฤกษ์และการตั้งชื่อ
            - อาถรรพณ์พยากรณ์พิเศษ
            - โหราศาสตร์แผนใหม่
            - ไดอารี่โหราศาสตร์ประจำปี
            - วิจารณ์ดวงชาตาสองร้อยดวง ฉบับ
            - คัมภีร์หยินหยาง
            - โยคะ
            - กาลชาตาและโหราศาสตร์บ้านเมือง
            - ค่าพยากรณ์ความฝัน
            - ปฐมภาคแห่งโหราศาสตร์
            - ปัจฉิมภาคแห่งโหราศาสตร์
            - วิเทศโหราศาสตร์
            - พื้นฐานของโหราศาสตร์
            - ความมหัศรรย์ในตัวเลข
            - โหราศาสตร์พิชัยสงคราม ดวงเมือง
            - โหราศาสตร์ภาคพิเศษ ทวาทศเคราะห์
            - ปกิณกะโหราศาสตร์
            - พยากรณ์จรพิสดาร
            - พยากรณ์ความฝัน
            - โหราศาสตร์ภาคพิเศษ พลูหลวง
            - ปฏิทินดวงดาวเนปจูนและพลูโต
            - ปฏิทินดาวแบคคัส (ดาวโสม)
            - ปุจฉาวิสัชนาโหราศาสตร์ ภาคพิธีกรรมกับนรลักษณ์
            - คำพยากรณ์และการให้ฤกษ์ประจำวันตลอดปี 2528
            - คำพยากรณ์และการให้ฤกษ์ประจำวันตลอดปี 2529
            - คติความเชื่อและประเพณีเกี่ยวกับการสร้างเรือน
            - เทวโลก
            - พลูหลวง วิจัยดาว และดูดวง
            - เคล็ดลางอาถรรพณ์
            - หยิน หยาง ภูมิพยางกรณ์และ ฮวงจุ้ย
            - ตำรานรลักษณ์ศาสตร์แห่งการทำนายลักษณะบุคคล
            - วิถีแห่งการพยากรณ์
            - การให้ฤกษ์ฉบับง่าย
            - คติสยาม
            - ยามอัฐกาลแบบง่ายๆ
            - หยิน หยาง ภูมิพยางกรณ์และ ฮวงจุ้ย




นามปากกา
- น. ณ ปากน้ำ เขียนเรื่องศิลปะโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เริ่มครั้งแรกในหนังสือ ชาวกรุง ปี พ.ศ. 2500
- นิรวรรณ ณ ปากน้ำ เขียนเรื่องศิลปะ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ พบในหนังสือ ชาวกรุง
- พลูหลวง เขียนประวัติศาสตร์ สารคดี และโหราศาสตร์ เริ่มใช้ ครั้งแรกใน หนังสือ สยามสมัย ปี พ.ศ. 2501
- ลุ่ม เจริญศรัทธา เขียนวิจารณ์ศิลปะโบราณ เริ่มครั้งแรกในหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์
- กเวล ชไนบูร เขียนเรื่องสั้นและเป็นนามปากกาใช้ในการเขียนรูปด้วย เริ่มครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
- เอ.พี.ฟิชเซอร์ เขียนวิจารณ์ศิลปะ เริ่มครั้งแรกในหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์
- โอสธี เขียนโหราศาสตร์ เริ่มครั้งแรกในหนังสือรายสัปดาห์ คุณหญิง
- นายซีเนียร์ เขียนให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นประจำ เริ่มครั้งแรกในหนังสือต้อนรับน้องใหม่มหาวิทยาลัยศิลปากร


นายประยูร อุลุชาฎะ เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญของชาติ ที่ได้เสียสละและอุทิศตนให้กับงานศิลปะ และวิทยาการด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ เป็นคนดีมีวิชา มีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นปูชนียบุคคล เหมาะสมที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของเยาวชน และเป็นศักดิ์ศรีของชาติสืบไป ท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2543 รวมอายุได้ 72 ปี







*****   รายละเอียดยังไม่ครบถ้วนค่ะ  จะหามาเพิ่มเติมเรื่อยๆ ******

ข้อมูลรายละเอียดเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซด์  น.ณ ปากน้ำ 
https://sites.google.com/site/nornapaknam/Home

No comments:

Post a Comment

ผ่านมาแล้วอย่าผ่านเลยไป แวะทักทายกันสักนิด......