Saturday, 1 October 2022

Malaysia #2 - Malacca

 



มะละกา ถือเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ มีความรุ่งเรืองทางด้านการค้า และการเมืองที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัว นอกเหนือจากนั้นมะละกายังคงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น จุดเริ่มต้นของพัฒนาการของภาษามลายู จุดเริ่มต้นของการแพร่ขยายและการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงพัฒนาการของคนมลายูอีกด้วย  

มะละกาเป็นเมืองท่าเก่าแก่และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรมลายู เป็นเมืองท่าตั้งอยู่บริเวณช่องแคบระหว่างคาบสมุทรมาลายาและเกาะสุมาตราในทะเลอันดามัน ที่เรียกว่า “ช่องแคบมะละกา”ก่อนหน้านั้นมีเมืองท่าที่สำคัญบนเกาะสุมาตรา เช่น อูรู เปเดร์ และปาไซ พ่อค้ามุสลิมจากแอฟริกา อาหรับ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น จึงรู้จักกันดี เพราะเป็นเส้นทางผ่านไปสู่เอเชียตะวันออกโดยเฉพาะเมืองจีน

มะละกาถือเป็นศูนย์รวมของการค้าในภูมิภาค พ่อค้ามากหน้าหลายตา ต่างเดินทางมาแลกเปลี่ยนสินค้ากันในบริเวณแห่งนี้ ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีความเหมาะสม คือ เป็นเมืองท่า และอยู่ติดกับช่องแคบ จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเดินเรือ และยังผลให้มะละกา ประสบความสำเร็จในด้านการค้า จากการค้านี่เองทำให้มะละกาได้สร้างอิทธิพลในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในภูมิภาคนี้

  มะละกาเข้าสู่ยุคอาณานิคมโดยตกเป็นของโปรตุเกสเมื่อ พ.ศ.๒๐๕๔ พวกดัตช์แย่งชิงมาด้วยการโจมตีเมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๔ ดัตช์ที่ปกครองมะละกาอยู่กว่าร้อยห้าสิบปี สร้างอาคารจำนวนมากที่ยังคงหลงเหลืออยู่ใกล้เขามะละกาหรือเขาเซนต์ปอล ย่านนี้เป็นแหล่งที่เป็นศูนย์รวมของอาคารจากยุคอาณานิคมที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน  มีอาคารที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เมืองมะละกา ตึกStadthuysซึ่งเป็นอาคารที่เก่าที่สุดในอาณานิคมฝั่งเอเชียอยู่ที่นี่สร้างตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.๒๑๙๓ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำการของผู้ปกครองอาณานิคมชาวดัตช์ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ [Museum of History and Ethnography]จัดแสดงเรื่องราวของเมืองประวัติศาสตร์มะละกาและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งเชื้อสายจีน อินเดีย โปรตุเกส และมลายู อยู่ในย่านที่เรียกว่า จัตุรัสแดง

อาหารอร่อยของมะละกา คือ อาหารจีนแบบลูกครึ่งที่รวมเอาอาหารแบบจีนและมาเลย์ที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศรสจัดและความจัดเจนในการปรุงอาหารแบบคนจีน มะละกาจึงเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมแบบเปอระนะกัน[Peranakan Culture]เพราะเมื่อคนจีนยุคแรกๆ มาถึงมะละกาเพื่อเป็นคนงานในเหมืองและแต่งงานกับเจ้าสาวชาวมลายูก็ปรับรับเอาวัฒนธรรมแบบท้องถิ่นมาใช้ ผลก็คือ เป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างมลายูและจีน ผู้ชายเรียกกันว่า บาบ๊า [Baba]และผู้หญิงก็เรียกว่า นันย๊า [Nonya] มีบ้านเรือนแบบตึกที่อาศัยเป็นที่ค้าขายไปด้วย เราเรียกกันในปัจจุบันว่าตึกแบบสมัยโคโลนีหรือตึกแบบสมัยอาณานิคม หลุมฝังศพจีนบนเนินเขาจีนในมะละกา เป็นแหล่งฝังศพชาวจีนโพ้นทะเลที่ใหญ่ที่สุดย้อนกลับไปได้ถึงราวปลายสมัยราชวงศ์หมิง แต่หลายพื้นที่ถูกขุดไปในช่วงที่อังกฤษปกครอง เป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านในปัจจุบันนิยมไปวิ่งออกกำลังกายและมองเห็นวิวของเมืองได้ทั้งหมด เชิงเขามีวัด Poh San Teng

8 ก.ค. 2008 ชื่อของมะละกา(Malacca)โดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อยูเนสโกประกาศให้เมืองมะละกาและจอร์จทาวน์ในมาเลเซียเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ ฉะนั้นชื่อเป็นทางการคือ  มะละกาและจอร์จทาวน์ นครประวัติศาสตร์บนช่องแคบมะละกา  (Melaka and George Town, Historic Cities of the Straits of Malacca)  




การเดินทาง จากกัวลาลัมเปอร์ เราสามารถเดินทางมามะละกา ได้ ทั้งทางรถไฟ และ รถบัส

รถไฟ จากสนามบินเราสามารถเลือกเดินทางรถไฟสาย STARM ไปลงที่ Melaka Sentral, Lebuh AMJ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชม. ค่ารถไฟ 27 ริงกิต

หรือ นั่งรถบัส ไปลงที่ Melaka Sentral  ใช้เวลา 4 ชม. ค่ารถ 60 ริงกิต และต่อรถเมล์สาย 17 – Ujong Pasir  ไปลงที่ Dutch Square ค่ารถบัส 2 ริงกิต

สำหรับคณะของเรา เลือกการเช่ารถตู้เหมาคันตลอดเส้นทาง ซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าค่าเช่ารถวันละเท่าไหร่


ในเขตเมืองเก่าจะมี โรงแรม และ เกสเฮาส์ ให้บริการค่อนข้างมาก คณะของพวกเราเลือกพักที่ Layang Layang Guest House ซึ่งเป็นบ้านเก่า ปรับปรุงใหม่ได้อย่างน่าอยู่


 

 





ที่พักเราอยู่ใจกลางเมืองเก่า คงไม่พลาดด้วยประการทั้งปวง ในการเดินชมเมืองเก่ากัน จุดไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดคือการเดินริมแม่น้ำมะละกา  จากวงเวียน Dutch Square เดินเลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆจนถึงสะพาน Jambatan Pasar ระยะทางประมาณ 500 เมตร 

สองฝั่งแม่น้ำ เราจะพบ ภาพวาดกราฟฟิตี้สวยๆตลอดเส้นทางเดิน ถ้าเมื่อยก็มีร้านกาแฟน่ารักให้นั่งพักเท้าหลายร้าน










Dutch Square (Red Square) Melaka จะมีจุดน่าสนใจให้เที่ยวชมหลายแห่ง เช่น Menara Jam Melaka / Melaka Clock Tower , Queen Victoria's Fountain , St. Francis Xavier , The Stadthuys

Queen Victoria's Fountain  และ  หอนาฬิกาประจำเมือง (Tan Beng Swee Clock Tower) สร้างขึ้นในสมัยอาณานิคมของอังกฤษ โดยชาวจีนผู้อาศัยอยู่ในเมือง 


 

 






จาก จัตุรัสแดง ข้ามถนนและข้ามสะพานข้ามแม่น้ำมะละกาก็จะเข้าสู่ย่านค้าขาย ที่ส่วนใหญ่เป็นของชาวจีนหรือที่เรามักคุ้นหูกันในชื่อ ‘ไชน่าทาวน์’ เป็นตรอกซอกซอยมากมายที่รายล้อมถนนด้วยอาคารทรงชิโน-โปรตุกีส


ส่วนใหญ่มักเป็นที่อยู่อาศัย บ้างเปิดเป็น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก หรือโรงแรม โดยถนนที่ต่อจากสะพานข้ามแม่น้ำมะละกาเป็นถนนเส้นหลักที่มีนักท่องเที่ยวขวักไขว่มากที่สุด คล้ายกับเป็นศูนย์กลางของไชน่าทาวน์ในมะละกา ชื่อว่า Jalan Hang Jebat หรือที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันในชื่อ Jonker Street นอกจากนี้ยังมีวัดจีนและมัสยิดแทรกตัวอยู่ในระยะที่ไม่ไกลกัน








วัดจีน Cheng Hoon Teng เดินไปเดินมาในแถบ ไชน่าทาว์น ก็เจอวัดจีน Cheng Hoon Teng วัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดในท้องถิ่น วัดนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ยุคของชาวมะละกาดัตช์ เป็นสถานที่เคารพบูชาสำหรับชุมชน ฮกเกี้ยน





 



จากวงเวียน Dutch Square ถ้าเราไม่ข้ามสะพานมาเที่ยวไชน่าทาว์น แต่เดินเลี้ยวซ้ายตรงเชิงสะพาน เดินเลียบแม่น้ำ จะมุ่งหน้าไปปากแม่น้ำ จะพบท่าเรือที่เป็นจุดนั่งเรือชม สองฝั่งแม่น้ำมะละกา ใกล้ๆกันเราจะพบกับอาคารรูปเรือสำเภาที่ตั้งตระหง่านใหญ่โตรอต้อนรับนักท่องเที่ยว อาคารแห่งนี้คือพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวิถีชีวิตและประวัติความเป็นมาของเมืองมะละกา ภายในนำเสนอวิถีชีวิตของลูกเรือที่ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาขนส่งสินค้าที่ช่องแคบมะละกา ให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่ของเมืองมรดกโลกในเอเชียแห่งนี้ได้อย่างลึกซึ้ง



แสงสียามค่ำคืนในมะละกา ก็น่าเดินเที่ยวชมเมืองในยามค่ำคืน 


 





จุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง อยู่นอกเมืองมะละกาคือ มัสยิดลอยน้ำแห่งมะละกา (Melaka Straits Mosque) ถูกสร้างบนเกาะ Pulay ซึ่งเป็นเกาะที่ทางรัฐบาลสร้างถมที่ขึ้นมาให้เป็นที่พักและตั้งสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ มัสยิดสีขาว หลังคาโดมสีทอง ตัดกับท้องฟ้าสีคราม สวยงามจับตายิ่งนัก ยิ่งตอนใกล้พลบค่ำ ก็สวยงามแปลกตากับท้องฟ้ายามอาทิตย์อัสดง







แสงสียามอาทิตย์อัสดง





ยังมีที่น่าเที่ยวชมอีกหลายแห่ง น่าเสียดายที่เรามีเวลาน้อย ไว้โอกาสหน้าฟ้าใหม่ เราคงได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมมะละกาอีกครั้ง

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมกันนะคะ