นครวัด นครธม เป็นเมืองโบราณสร้างในปี พ.ศ.1650 ในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมัน ที่ 2 กษัตริย์ขอมโบราณ
อังกอร์ แปลว่า เมืองพระนคร เต็มไปด้วยปราสาทน้อยใหญ่มากมายหลายแห่ง แต่ที่เป็นไฮไลท์และควรไปเที่ยวชมมากที่สุด ก็คือ อังกอร์วัด หรือ นครวัด ชื่อเต็มของนครวัดคือ มหาปราสาทบรมวิษณุโลก โดย พระเจ้าสุริยวรมัน ที่ 2 ได้สร้างปราสาทนครวัดถวายแด่ พระวิษณุ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธ ตัวเทวสถานถือเป็นที่สุดของสถาปัตยกรรมเขมรสมัยคลาสสิกรุ่งเรือง และได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา โดยปรากฏในธงชาติ และเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของประเทศ ตลอดจนได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ นครวัด-นครธม
ปัจจุบัน นครวัด นครธม ตั้งอยู่ในเมือง เสียมราฐ (เสียมเรียบ) จากประเทศไทย เราสามารถเดินทางโดยเครื่องบินบางกอกแอร์เวย์และแอร์เอเชีย ไปลงที่เมืองเสียมเรียบได้โดยตรง
หรือ โดยรถยนต์ผ่านด่านประเทศไทยที่ด่านโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว เพื่อข้ามไปด่านปอยเปต ประเทศ กัมพูชา คณะเราใช้รถตู้จาก กรุงเทพฯมายังตลาดโรงเกลือ และเปลี่ยนเป็นรถตู้ท้องถิ่นที่ติดต่อไว้ล่วงหน้าแล้วเมื่อผ่านด่านเข้าเขตประเทศกัมพูชา สภาพรถเข็นกระเป๋าช่างแตกต่างจากคราวเดินทางโดยเครื่องบินยิ่งนัก
การผ่านด่านไม่มีอะไรยุ่งยากนักสำหรับคนไทย เราสามารถยื่นพาสปอร์ตเพื่อผ่านด่านได้เลย เมื่อผ่านด่านแล้ว จะพบรถตู้ที่จอดรอรับพวกเรา ระยะทางจากด่านปอยเปต ไปยังเมืองเสียมเรียบระยะทาง 152 กม. ในการเดินทางครั้งแรก เมือปี 2552 เราใช้เวลาเดินทางครึ่งวัน เนื่องเพราะถนนเป็นดินลูกรังตลอดเส้นทาง แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาถนนหนทางเป็นลาดยางแล้ว เวลาในการเดินทางจึงเร็วขึ้น แต่ก็ไม่น้อยกว่า 3 ชม. เพราะกฎหมายของที่นี่จำกัดความเร็วของรถ และตลอดเส้นทางผ่านชุมชนต่างๆ ทำความเร็วไม่ได้อยู่แล้ว
การเข้าชมนครวัด นครธม ต้องซื้อ Angkor pass หรือก็คือตั๋วเข้าชมปราสาทต่างๆในเมืองเสียมเรียบที่สามารถเข้าชมได้เกือบทุกแห่ง ตั๋ว 1 วัน ราคา 37 USD, 3 วัน ราคา 62 USD และ 7 วัน ราคา 72 USD และต้องถ่ายภาพผู้ซื้อติดไว้ในตั๋วด้วย กันการเวียนใช้งาน
ที่พักในเมืองเสียมเรียบ ปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย ตั้งแต่โรงแรมระดับ 5 ดาว จนถึงเกสเฮ้าส์ มีให้เลือกตามระดับเงินในกระเป๋า
ปราสาทนครวัด อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองเสียบเรียบ ประมาณ 7.3 กม. นครวัดสร้างในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ครองอาณาจักรขอมช่วง พ.ศ.1656-1693 ซึ่งขณะนั้นพราหมณ์ฮินดูไวษณพนิกาย นับถือพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นมหาเทพ รุ่งเรือง พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างปราสาทนครวัด เป็นเทวาลัยบูชา และให้เป็นที่เก็บพระศพของพระองค์ (ทรงได้พระนามภายหลังสิ้นพระชนม์ว่า บรมวิษณุ ทำให้นครวัดมีอีกชื่อว่า บรมวิษณุมหาปราสาท) นครวัดจึงแตกต่างกับปราสาทอื่นๆ ตรงที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศของผู้ตาย แทนทิศตะวันออกตามขนบประเพณีเดิม ล่วงเข้าสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเปลี่ยนนครวัดเป็นศาสนสถานพุทธนิกายมหายาน
นครวัดได้รวมเอาการวางผังพื้นฐานในสถาปัตยกรรมเขมรสองแบบมาใช้ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ ผังการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (ปราสาทบนฐานชั้น) และการสร้างปราสาทแบบมีระเบียงคดที่มีภาพสลัก การสร้างปราสาทรูปแบบนี้ได้สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สถิตของเทพเทวัญในปกรณัมของศาสนาฮินดู ด้านนอกมีคูน้ำและกำแพงล้อม ความยาวรวมกว่า 3.6 กิโลเมตร โดยตัวปราสาทประกอบด้วยระเบียงคดสี่เหลี่ยมที่มีภาพสลักทั้งหมดสามชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่สูงกว่าชั้นล่าง ตรงกลางของปราสาทคือพระปรางค์ที่มีทั้งหมด 5 ยอด นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทในพระนครปราสาทอื่นๆ เนื่องจากมีการหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนักวิชาการต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างออกไปในเรื่องนัยยะของการสร้างในลักษณะนี้ นครวัดยังได้รับการยกย่องในด้านความงามและความกลมกลืนของตัวสถาปัตยกรรม อาทิ ภาพสลักนูนต่ำที่ใหญ่โต รวมถึงภาพเทวดาที่มีการตกแต่งตามผนังเป็นจำนวนมาก
จุดแรกที่เกือบทุกคนต้องการดู คือพระอาทิตย์ขึ้นที่ปราสาทนครวัด แต่จากประสบการณ์ที่เคยไปมาแล้ว 3 ครั้ง พบว่า ทุกคนต่างต้องการมาดูพระอาทิตย์ขึ้น ฉะนั้น บริเวณด้านหน้าที่มีลานกว้างไม่มากนัก จะคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มายึดพื้นที่ที่คิดว่าดีที่สุดตั้งแต่ตีสี่ ถ้ามาหลังจากนั้นก็เข้าไม่ถึง อีกทั้งอากาศก็คาดเดาไม่ได้ว่าจะปลอดโปร่งได้เห็นพระอาทิตย์อย่างที่ตั้งใจหรือไม่ อีกทั้งการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่นครวัด หมายความว่า เราต้องใช้ปราสาทนครวัดเป็นฉากหน้า และต้องเห็นริ้วเมฆหรือท้องฟ้าอย่างชัดเจน ภาพที่ได้ก็จะเป็นเช่นภาพข้างบน คือได้ภาพปราสาทนครวัดแบบภาพ Silhouette หรือภาพโครงทึบ
จากประตูชั้นนอกเมื่อเดินข้ามคูคลองผ่านลานทึ่คนจะมาดูพระอาทิตย์ขึ้น ก็จะถึงระเบียงคต ชั้นนอก ซึงจะมีภาพลายแกะสลักเป็นภาพเหล่านางอัปสร ตามความเชื่อของชาวเขมร นางอัปสรา คือนางฟ้า หรือเทพธิดา ที่อยู่คอยรับใช้และดูแลศาสนสถาน อีกทั้งรูปร่างหน้าตาก็แตกต่างกัน ดูไม่เหมือนกันสักนางเดียว แม้แต่ทรงผมหรือการแต่งกาย ก็มีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตนาการอิสระของช่างแกะสลักแต่ละคนในยุคนั้น
นอกจากรูปเหล่านักอัปสร ก็มีงานแกะสลักเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และเรื่องราวจากวรรณคดีมหากาพย์ที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งของอินเดียคือ มหาภารตยุทธ (Mahabharata) และรูปแกะสลักที่มีชื่อที่สุดคือรูปแกะสลักการกวนเกษียรสมุทร
ด้านในสุดเป็นพระปรางค์ ที่ทางขึ้นชันมากแทบต้องคลานขึ้นไปเลยทีเดียว
บนพระปราค์จะเป็นที่สถิตของเหล่าเทพของฮินดู
มีนางรำแก้บนด้วย
นครวัดถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมเขมรรูปแบบคลาสสิคที่สำคัญที่สุด ซึ่งชื่อเรียกรูปแบบศิลปะในสมัยคลาสสิคนี้ยังเรียกกันว่า “ศิลปะนครวัด” อีกด้วย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 นั้น สถาปนิกเขมรได้มีทั้งทักษะความสามารถและความมั่นใจในการใช้หินทรายเป็นวัสดุโครงสร้างหลักของอาคาร (จากเดิมที่ใช้อิฐหรือศิลาแลงในการก่อสร้าง) ส่วนของปราสาทที่มองเห็นได้นั้นทำมาจากหินทรายที่มีการตัดเป็นบล็อก ในขณะที่กำแพงภายนอกและโครงสร้างภายในนั้นทำจากศิลาแลงแต่ใช้บล็อกหินทรายปิดบังเอาไว้ภายนอก ยังไม่มีการชี้ชัดว่าวัสดุที่ใช้เชื่อมหินแต่ละก้อนให้ติดกันนั้นคืออะไร แม้จะมีจะมีการเสนอว่าเป็นยางไม้และน้ำปูนใสมาโดยตลอดก็ตาม[36]
ปราสาทแห่งนี้ได้รับการยกย่องเหนือปราสาทหลังอื่นๆ เนื่องด้วยความกลมกลืนของการออกแบบ มอริส เกรซ นักอนุรักษ์ของปราสาทนครวัดในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้ระบุว่า ปราสาทหลังนี้ “ได้บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบที่คลาสสิกด้วยการเป็นอนุสรณ์แห่งองค์ประกอบที่มีความพอดีอย่างประณีต มีการจัดสัดส่วนที่แม่นยำ เป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยพลัง มีความเป็นหนึ่งเดียว และเต็มไปด้วยลีลา”
ในตอนต่อไป จะพาไปปราสาทอื่นๆ ไฮไลท์ที่สำคัญคือ ปราสาทนครธม ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากปราสาทนครวัด ติดตามได้ที่นี่
http://somersetmghm.blogspot.com/2020/06/angkor-thom.html
No comments:
Post a Comment
ผ่านมาแล้วอย่าผ่านเลยไป แวะทักทายกันสักนิด......