Sunday 17 April 2011

เนปาล ริมขอบป่าหิมพานต์


ในที่สุดเราก็ได้แตะแผ่นดินเนปาล หุบเขากาฐมาณฑุ สนามบินตรีภูวัน  เสียที หลังจากอกสั่นขวัญแขวน ว่าวันนี้เราจะต้องกลับไปนอนบ้านหรือเปล่า เนื่องจากการดีเลย์ของสายการบินเนปาล(ซึ่งว่ากันว่า เป็นปกติของสายการบินนี้)  กว่าจะเช็คอินเข้าที่พักก็เกือบตีสามของวันใหม่
            ตีห้า นาฬิกาชีวิตก็ปลุกเราให้ตื่นก่อนนาฬิกาปลุก 1 ชั่วโมง ความตื่นเต้นและกระหายที่จะได้พบกับดินแดนแห่งเมืองมรดกโลกแห่งนี้ ทำให้ไม่มีอาการอิดโรยจากการเดินทาง แม้จะหนาวเย็นจากอากาศยามเช้า เราก็ตัดใจอาบน้ำให้สดชื่น แล้วก็เริ่มออกสำรวจโลกกว้าง ภายในทาเมล ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเหมือนถนนข้าวสารบ้านเรา








            โลกของทาเมล ถ้าร้านค้าปิดนักท่องเที่ยวยังหลับไหลจากความเหน็ดเหนี่อยของชีวิตยามราตรี  กลับเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้าน ผู้คนที่นี่จะพากันออกมาทำภาระกิจของแต่ละคน บางคนออกมาทำความสะอาดบริเวณหน้าบ้าน บางคนนำอาหารและเครื่องสังเวยมาถวายเทพเจ้าในศาลหรือเทวลัยเล็กๆริมทาง หรือถวายเจ้าที่เจ้าทางหน้าบ้านเพื่อขอพรให้เจริญรุ่งเรือง ร้านอาหารริมทางสำหรับขายให้ชาวบ้านเช่นร้านขายน้ำชา หรือขนมแป้งทอด มีลูกค้าอุดหนุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง  แค่เพียงชั่วโมงแรกของการสัมผัสเนปาลเราก็ยิงรัวถ่ายภาพหมดไปกว่า 2 กิ๊กแล้ว แม้สภาพแสงจะไม่เอื้ออำนวยเนื่องจากเป็นเวลาเช้าของการเริ่มต้นฤดูหนาว แต่สีสันและความมีชีวิตชีวาของผู้คน ทำให้อดใจไม่ได้ที่จะต้องบันทึกเก็บภาพไว้




            ช่วงเวลานี้ เรายอมตั้ง ISO ไว้ที่ 800-1600 ยอมให้มี Noise เกิดขึ้นในภาพ แลกกับความชัดและอารมณ์ชีวิตชีวาของผู้คน สีสันรอบตัวเข้ามาไว้ในภาพแทน และเหมือนพระเจ้าเป็นใจ พอพระอาทิตย์เริ่มสาดแสงเราก็ได้ภาพแสงเงาสวยๆมาทันทีที่วัดพุทธ ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางธุกิจการค้าในทาเมล ภาพชายสูงอายุที่เดินผ่านระเบียงที่แสงน้อยแต่ก็พอมีแสงสาดเฉียงเข้ามาด้านข้างบ้าง ทำให้มีทั้งแสงสว่างและเงาของเสาพาดผ่านช่วยให้ภาพมีมิติมากขึ้น และปลายทางของระเบียงเป็นช่องประตูที่สว่างอยู่เบื้องหน้าของชายสูงอายุ ก็ช่วยขับให้เกิดเป็นภาพโครงทึบของชายสูงอายุผู้นั้นเด่นขึ้นมาทันที
            หลังจากกลับเข้ามาที่พักเพื่อรับประทานอาหารเช้า และเข้าร่วมกับคณะทัวร์เพื่อเริ่มเดินทางตามโปรแกรมทัวร์ของวันนี้ ก็แทบไม่ได้ภาพที่ประทับใจเท่าไหร่เนื่องจากเวลาที่กระชั้นตามโปรแกรมทัวร์ ทำให้เราไม่มีเวลาที่จะพิถีพิถันมากนักในการถ่ายภาพ หลายครั้งต้องงัดเอากล้องคอมแพคออกมาช่วยเก็บภาพ  ซึ่งกาฐมาณฑุในยามที่มีแสงอาทิตย์สาดส่องแล้ว ความเปรียบต่างของสภาพแสงค่อนข้างมาก สีสันของอาคารและการแต่งกายของผู้คนที่เน้นสีสัน ทำให้การวัดแสงด้วยกล้องคอมแพคที่เกือบทุกอย่างเป็นอัตโนมัติหมดค่อนข้างยาก ในการหาจุดวัดแสงเพื่อให้แสงพอดี ทัวร์ในวันนี้ทางไกด์ได้พาไปชม ดอร์บาร์ สแควร์ (Dur bar Square) ซึ่งเป็นบริเวณราชวังโบราณ สร้างโดยราชวงศ์มัลละในศตวรรษที่ 12 และพระราชวังกุมารีหรือสถานที่ประทับของเทพเจ้าที่ยังมีชีวิตอยู่ชื่อกุมารี  สภาพความสับสนวุ่นวายรอบๆ จตุรัสดอร์บาร์ สแควร์  กอรปกับผู้คนไม่ว่าเด็กหรือนักบวช ถ้าถูกถ่ายรูปจะขอเงิน 1 ดอลลาร์ทันที และความรีบเร่งของการชมสถานที่ ทำให้อารมณ์ของการหามุมถ่ายภาพไม่ดีเท่าช่วงเช้าตรู่ ภาพที่ได้จึงเหมือนภาพบันทึกทั่วๆไป  แม้ช่วงเย็นที่ไปชม Swayambhunath ซึ่งมาสถูปใหญ่ที่ฐานทั้งสี่ทิศจะปรากฏ Wisdom eyes of Buddha อันหมายถึงดวงตาเห็นธรรม ดวงตาแห่งปัญญา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย และสัญลักษณ์ระหว่างดวงตา ที่มองดูคล้ายเครื่องหมายคำถาม สื่อถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของโลก ซึ่งกว่าคณะของเรามาถึงก็เย็น หมอกลงมากทำให้ไม่สามารถถ่ายวิวเมืองกาฐมาณฑุให้สวยงามได้







            วันรุ่งขึ้น  เนื่องจากได้รับแจ้งจากบริษัททัวร์ล่วงหน้าว่า มีการดีเลย์ของสายการบินทำให้ต้องเลื่อนกำหนดกลับล่าช้าไปอีก 2 วัน  เราจึงตัดสินใจกันว่า เมื่อมาเมืองมรดกโลกที่มีแหล่งมรดกโลกทางศิลปะวัฒนธรรรมมากมาย เฉพาะที่หุบเขากาฐมาณฑุ ก็ไม่น้อยกว่า 8 แห่ง น่าจะใช้ 2 วันที่ได้แถมมาเจาะลึกให้มากที่สุดดีกว่า ก็เลยขอแยกกลุ่มอยู่ที่กาฐมาณฑุไม่ซื้อแพคเกจไปที่อื่นตามที่บริษัททัวร์เสนอ และ มีที่ใจตรงกันอยากเที่ยวที่กาฐมาณฑุอีกหลายคน เราก็เลยรวมกลุ่มกันกางแผนที่กำหนดกันว่าจะไปไหนกันบ้าง หาแทกซี่ต่อรองราคากัน แชร์ค่ารถ ค่าอาหาร และ ค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ เมื่อหารออกมาแล้วถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับประสบการณ์ ความรู้ที่ได้ในช่วง 2 วันนี้
โปรแกรมที่พวกเรากำหนดกันเอง ที่แรกพวกเราตั้งใจไปคือ เมืองปักตาปูร์(Pahaktapur) เมืองมรดกโลกที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ผิดหวังเลย ทางเนปาลสามารถที่จะผสมกลมกลืนระหว่างการคงไว้ซึ่งเมืองโบราณที่เป็นมรดกโลก และ การอยู่ร่วมกันของชาวบ้านผู้คนล้อมรอบเมืองปักตาปูร์โดยให้มีความแปลกใหม่ของตะวันตกแทรกอยู่น้อยที่สุด  ทำให้เมืองโบราณแห่งนี้ยังคงความมีชีวิต เหมือนในอดีตใด้อย่างน่าชม แต่ถึงจะมีความเป็นตะวันตกแทรกอยู่บ้าง ก็ดูจะกลมกลืนเข้ากันได้ดีกับเมืองดูไม่ขัดตา





            จุดแรกที่เลือกชมเมืองเรามุ่งไปทางทิศเหนือของเมืองก่อน ผ่านชุมชนเล็กๆ ของชาวบ้านที่บางคนจะออกมานั่งตากแดดคุยกัน และบางคนจะพากันมาอาบน้ำที่บ่อน้ำสาธารณะ เด็กเล็กก็จะถูกผู้ใหญ่จับอาบน้ำสระผม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการอธิบายจากไกด์แล้วว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเทศกาลวันหยุดที่คล้ายกับ เทศกาลสงกรานต์ปีใหม่บ้านเรา ทุกคนจะกลับไปเยี่ยมบ้านหรือครอบครัว จึงไม่ค่อยแปลกใจที่เห็นผู้คนเนปาลทั้งผู้ใหญ่และเด็กพากันอาบน้ำกันยกใหญ่   สิ่งที่แปลกตากลับเป็นกองข้าวเปลือกที่ชาวบ้านเอาออกมาตากแดดเต็มลานหน้าบ้าน  สำหรับคนชอบถ่ายภาพแล้วชีวิตและบรรยากาศอย่างนี้ ทำให้หมดไปอีกหลายกิ๊ก กับการเก็บภาพวิถีชีวิตเช่นนี้ จากทิศเหนือเราเดินกลับมาจุดเริ่มต้นเพื่อมุ่งลงไปทางทิศใต้ของเมือง ซึ่งเป็นหมู่บ้านช่างปั้นหม้อดินเผา ที่เป็นจุดเด่นของเมืองนี้  น่าเสียดายวันนี้ไม่มีการเอาเครื่องปั้นดินเผาออกมาตากแดด มีเพียงกองข้าวเปลือกเหมือนทางด้านทิศเหนือ แต่ถึงอย่างไรสีสัน ความมีชีวิตชีวาของผู้คนก็ยังทำให้เราถ่ายภาพได้อย่างไม่รู้จักเบื่อ จนเที่ยงจึงกลับมายังจุดนัดหมาย และระหว่างการรับประทานอาหารกลางวันเราก็ตกลงกันว่า ตามโปรแกรมทัวร์วันสุดท้าย จะต้องกลับมาที่นี่อีกครั้งอยู่แล้ว ไว้ค่อยกลับมาเก็บรายละเอียดทีหลัง ช่วงบ่ายเราไปชมพิพิธภัณฑ์ที่เมืองปาทันที่มีความยิ่งใหญ่ติดอันดับโลกกันดีกว่า   อาหารกลางวันมื้อนี้ยอมรับว่า อร่อยมากทีเดียวสำหรับอาหารพื้นบ้านของเนปาล ซึ่งได้แก่ ข้าวผัด หมี่ผัด และพิเศษ สปริงโรล ที่อร่อยจนต้องสั่งมาเพิ่มแม้ต้องนั่งรอจานที่สองไม่น้อยกว่าค่อนชั่วโมงก็ตาม


            หลังอาหารกลางวัน พวกเราก็มุ่งหน้ากลับมาที่ปาทัน(Pa-tan) อีกครั้ง หลังจากที่วันแรกไกด์ได้พามาชมแบบผ่านๆ


            ที่พิพิธภัณฑ์ปาทันก้าวแรกของการเหยีบย่างก็ได้พบความยิ่งใหญ่ของอาคารไม้เก่าแก่ ที่ได้รับการซ่อมแซมดามเหล็กโครงสร้างอย่างดี ลวดลายแกะสลักประดับประดาของอาคารทุกตารางนิ้ว วัตถุโบราณที่นำมาจัดแสดง ชื่นชมได้ไม่รู้เบื่อ และเจ้าหน้าที่ก็ใจดีให้ถ่ายรูปได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร  จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเราใช้เวลาที่นี่ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง  ภายในอาคารที่ก่อสร้างมิดชิดป้องกันความหนาวเย็นในหน้าหนาว แต่สามารถรับแสงแดดที่ส่องผ่านหน้าต่าง หรือช่องลมต่างๆ ช่วงเวลาบ่ายอย่างนี้ทำให้แสงแดดที่ส่องเข้ามาภายในอาคารให้มิติความลึกแก่ภาพเป็นอย่างดี  น่าเสียดายที่ไม่ได้เอาขาตั้งกล้องมาด้วย ทำให้หลายต่อหลายภาพขาดความคมชัดไปอย่างน่าเสียดาย  ภาพเพื่อนร่วมทางที่นั่งถ่ายรูปที่หน้าต่างย้อนแสงยามบ่ายเต็มๆ ทำให้เกิดริมไลท์ และคอนทราสต์ที่จัดจ้าน ซึ่งเราก็ไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอย รีบเก็บบันทึกภาพไว้ทันที



            ออกจากพิพิธภัณฑ์ พวกเราก็เที่ยวชมภายในเมืองปาทันหรือลลิตปูร์ต่อจากเมื่อวันวานที่ชมไว้เพียงผ่านๆ  กางแผนที่ไปยังจุดที่เมื่อวานยังไม่ได้ไปชมจนเย็น จึงกลับเข้าที่พัก เย็นนี้ไม่มีโปรแกรมอะไรพิเศษ จึงใช้ช่วงเวลานี้เดินดูของในทาเมล แต่ยังไม่ได้เลือกซื้ออะไร เพราะยังต้องเดินทางอีกหลายวัน กะว่าวันสุดท้ายค่อยกลับมาเลือกซื้ออีกครั้ง 
วันรุ่งขึ้น วันนี้ในคณะเล็กๆของเราเสนอชื่อ กีรติปูร์ (Kirtipur) ว่าเป็นหมู่บ้านเล็กๆชานเมืองที่ตั้งอยู่บนเนินเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของกาฐมาณฑุ  น่าไปเดินเที่ยวชมวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่  ตามประวัติศาสตร์เมืองนี้เคยเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของราชวงศ์มัลละ ภายหลังถูกพระเจ้าปฤทวี นารายัณ ศาห์ เข้าบุกยึดและได้จับชายฉกรรจ์ชาวเมืองทุกคนมาเฉือนจมูกและริมฝีปาก  ดังนั้นเพื่อรำลึกถึงความโหดร้ายครั้งนี้ ชาวเมืองจึงได้มีกฎห้ามมิให้ราชวงศ์ย่างเหยียบเข้ามาในนครกิรติปูร์นี้จนถึงปัจจุบัน  การมาที่นี่ของพวกเราเหมือนย้อนเวลากลับสู่อดีต เพราะสภาพบ้านเรือน ทางเดินที่ยังพลุกพล่านด้วย ผู้คน ฝูงสัตว์เลี้ยง และสุนัข ยังคงมีใช้ชีวิตแบบชนบท แนวถนนและบันไดหินที่ทอดยาวคดเคี้ยวขึ้นไปถึงยอดภูเขา ที่เป็นที่ตั้งของวัดฮินดู ที่ถึงแม้จะเป็นเขตชานเมืองแต่วัดแห่งนี้ก็ยังคงมีความงดงามของอารยธรรมที่รุ่งเรืองในอดีตของเนปาลอย่างชัดเจน ระยะทางเดิน 5 กิโลเมตรรอบหมู่บ้าน พวกเราใช้เวลาเดินครึ่งวัน จึงกลับลงมาที่พื้นราบ


ขากลับพวกเราก็ได้มีโอกาสได้นั่งรถประจำทางแบบรถตู้ร่วมกับคนเนปาล ที่มีน้ำใจขยับที่นั่งให้พวกเราได้นั่งเบียดกลับมายังกาฐมาณฑุ
            ช่วงบ่าย หลังจากเดินชมตลาดนัดแถว จตุรัสดุรบาร์ ที่ผู้คนเนปาลพากันมาเดินเบียดเสียดเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค พักใหญ่พวกเราก็แยกย้ายกันกลับมายังโรงแรม พักผ่อนและเตรียมเก็บข้าวของเพราะรุ่งขึ้นเช้า พวกเราต้องเดินทางไปสมทบกับคณะใหญ่ที่เมืองโปขรา  เพื่อเริ่มต้นโปรแกรมTrekking ระยะสั้นๆกัน

            เช้านี้พวกเรารีบตื่นแต่เช้ามืด อาบน้ำเก็บกระเป๋าลงมารอไกด์ท้องถิ่นที่จะมารับพวกเรา 6 คนเดินทางไปสมทบกับคณะใหญ่ที่โปขรา ไกด์ได้พาพวกเรานั่งรถทัวร์ที่มีที่นั่งทุกคนไม่ต้องแย่งกัน ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นเดียวกับพวกเรา ข้าวของกระเป๋าเดินทางก็ถูกขนขึ้นไปไว้บนหลังคารถทำให้นั่งสบายๆ การเดินทางช่วงแรกกว่าที่จะฝ่าการจราจรในเมืองที่คับคั่งรถติดเป็นกิโลก็ใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่รถเยอะ แต่เป็นความเคยตัวของคนขับรถที่นี่ อยากจะจอดส่งคน รับของก็จอดตรงนั้นเลย รถคันหลังถ้าอยากไปเร็วก็หาทางแซงเอาเอง หรือรอจนกว่าคันหน้าจะเคลื่อนออก  จนพ้นความจอแจของจราจรออกมานอกเมือง เราก็พบความงดงามของธรรมชาติข้างทางเป็นรางวัลที่อดทนรอ เป็นความงดงามที่ตลอด 6-7 ชั่วโมงนับแต่นี้ สามารถเพลินชมได้ไม่รู้เบื่อ อยากจะใช้ SLR เก็บภาพไว้ก็ไม่ถนัดเนื่องจากได้ที่นั่งด้านนอกริมทางเดิน และหน้าต่างกระจกก็ไม่ใสกิ๊ก เลยต้องใช้คอมแพคยื่นมือไปให้ชิดหน้าต่าง สุ่มกดไป เพราะกล้องคอมแพค จังหวะการกดชัตเตอร์ไม่เร็วเหมือน SLR ถ้าเห็นอะไรสวยก็ต้องกดล่วงหน้า  บางครั้งวิวสวย จังหวะกดดี แต่เจอรถสวน ก็เลยได้วิวรถสวนมาเต็มๆแทน  เพลิดเพลินกับวิว 2 ข้างทาง จนถึงเมืองPokhara ตอนเย็น 




            เมืองโปขรา(Pokhara) เป็นเมืองตากอากาศที่ตั้งอยู่ท่ามกลางวงล้อมของเทือกเขาอันนาปุระ เราสามารถชมวิวเทือกเขาหิมาลัยได้ใกล้ที่สุด เนื่องจากอยู่ใกล้เชิงเขาหิมาลัยเพียง 30  กิโลเมตร เป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับสอง รองจากเมืองกาฐมาณฑุ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเขาผจญภัยหรือล่องแพ   ช่วงที่เดินทางไปถึงหมอกลงเยอะจนไม่สามารถเก็บภาพวิวได้ เลยใช้เวลาช่วงนี้  ช้อปปิ้งพวกเสื้อกันหนาว เป้ กระเป๋าเดินทาง ที่ราคาค่อนข้างถูก และ คุณภาพดีกว่าที่ขายที่ทาเมลมาก ได้ของที่ถูกใจกันไปคนละเล็กละน้อย กลับเข้าที่พักก็เตรียมแบ่งเสื้อผ้า เพื่อขึ้นไปค้างบนเขา 1 คืน ของส่วนใหญ่ให้ฝากเก็บไว้ที่โรงแรม
            เช้าวันที่ 5 ทั้งคณะตื่นกันตั้งแต่เช้าเพื่อไปพายเรือเล่นในทะเลสาปเฟวา และ ไปชมวัดทองวราหิ(Golden Temple of Varahi) วัดของพระวิษณุเทพที่เกาะกลางทะเลสาป  ที่ตามปกติถ้าอากาศดี ทัศนวิสัยกระจ่าง เราก็สามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยเป็นฉากหลังจากทะเลสาปนี้ได้  แต่วันนี้ฟ้าไม่เป็นใจ หมอกลงจัดมาก เห็นแค่วิวในทะเลสาปเท่านั้น ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อขึ้นไปบนเขาแล้ว ขอให้ได้เห็นเทือกเขาหิมาลัยสมใจก็แล้วกัน





            จนสาย รถก็พาพวกเรามาส่ง ณ จุดเริ่มต้นของการเดินขึ้นเขา ระยะทาง 9 กิโลเมตร ไกด์พยายามบอกให้พวกเราค่อยๆเดิน ไม่ต้องรีบร้อน เดินไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พักได้  แต่ก็เห็นหลายคนเดินตัวปลิวทิ้งหายไปเลย คงมีแต่พวกบ้าถ่ายรูปข้างหลัง 4-5 คน เดินไปถ่ายไปตลอดทาง เจอวิวสวยก็ถ่าย เจอผู้คนสวนทาง หรือ เด็กๆ ก็ถ่ายไปเรื่อย  เพราะนอกจากวิวจะสวยแล้ว บ้านเรือนและการแต่งกายของผู้คนที่นี่ จะเน้นสีสันประเภทแม่สีเท่านั้น เด็กๆที่หน้าตาน่ารัก ตากลมโตผสานกับคราบสกปรกบนใบหน้า แถมยังชอบเล่นกับกล้องด้วย ทำให้ถ่ายได้อย่างไม่ยั้ง หมดไปอีกหลายกิ๊กสำหรับวันนี้



            ระยะทาง 9 กิโลเมตร ขึ้นเขา ลงเขา 2-3 ลูก บ่ายๆก็มาถึงที่พักแบบไม่รู้ตัว เพราะเพลินกับการชมวิว ถ่ายภาพมาตลอดทาง  ไม่มีอะไรทำก็เลยเดินเก็บภาพแถวที่พักแทน หมอกเริ่มลงทำให้วิวไม่สวยพอที่จะถ่ายภาพ  สักพักได้ยินเสียงร้องวี๊ดว้ายของสาวๆเพราะโดนทากเกาะ เท่านั้นก็วงแตกเลิกถ่ายภาพ เก็บกล้องเข้าที่พักเป็นแถว เย็นนี้อาหารเป็นแบบบุปเฟต์อาหารเนปาลปนอินเดีย  อร่อยมากอีกมื้อ โดยเฉพาะแกงกะหรี่ไก่  แถมด้วยอาหารพิเศษ ฟักทองผัดใส่ไข่รสชาดแบบไทยๆ เพราะคนในคณะซื้อฟักทองจากชาวบ้านระหว่างทาง และขอทางครัวของโรงแรมปรุงอาหารเอง ทำให้ฮือฮาแย่งกันรับประทานพอให้หายคิดถึงอาหารไทย คืนนี้อากาศไม่หนาวเย็นมากอย่างที่หวัง ทำให้หลับสบายเพื่อตื่นมาชมพระอาทิตย์ขึ้นเหนือเทือกเขาหิมาลัยในวันรุ่งขึ้น
            เช้านี้ต้องตื่นกันก่อนตีห้า เพื่อเดินขึ้นไปบนยอดเขาซางรังก๊อต(Sarankot) ให้ทันก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พวกเราพากันเดินไปตามแนวทางเดินที่มีบางคนในคณะคอยฉายไฟฉายให้เห็นทาง หมอกลงจัดเช่นเคย จนสายเกือบแปดโมงเช้า จึงได้เห็นบางส่วนของเทือกเขาหิมาลัยโผล่พ้นแนวเมฆมาให้ชมสักอึดใจ หมอกก็ปิดเหมือนเคย เมื่อมากับคณะทัวร์ที่มีกำหนดการชัดเจน จะได้เห็น หรือ ไม่ได้เห็นเทือกเขาหิมาลัย ก็ต้องกลับมาที่ที่พัก รับประทานอาหารและเก็บของลงเขา ได้แต่คิดในใจปีหน้าฟ้าใหม่จะกลับมาอีกมานั่งรอชมเทือกเขาหิมาลัยให้สมอยาก วันนี้ขอฝากเอาไว้ก่อนก็แล้วกัน
            ขาลงเขาเป็นอีกด้านเป็นทางที่ทำขั้นบันได้หินตลอดทาง ระยะทางแค่ 3 กิโลเมตร ไกด์บรรยายว่าถ้าทัศนวิสัยดี จะมองเห็นทะเลสาปเฟวาและเทือกเขาหิมาลัยได้อย่างสวยงามตลอดทางลงเขานี้ แต่พวกเราได้เห็นแค่วิวรอบๆที่แสนจะรางเลือนด้วยหมอกลงจัดเช่นเคย
            วันนี้ทางทัวร์ได้พาไปชมวัดฮินดู น้ำตกเดวี่ และ หมู่บ้านทิเบต ก่อนที่พักกลับมาพักที่ โปขราในตอนเย็น หลังจากรับประทานอาหารพวกเราก็พากันช้อปปิ้งแบบทิ้งทวน จนร้านค้าพากันปิดร้านหมดจึงทยอยกลับมายังที่พักกัน
            วันที่แปดของการเดินทาง อีกเพียง 2 วัน เราก็ต้องกลับมาสู่ชีวิตจริงที่ต้องดิ้นรนทำมาหากินกันต่อไป เวลาแห่งความสุขช่างหมุนไปอย่างรวดเร็วจริงๆ
            การเดินทางกลับมายังกาฐมาณฑุ วันนี้ใช้วิธีบินกลับโดยสายการบิน Yeti Airlines  กำหนดเครื่องออก 8 โมงเช้า แต่กว่าพวกเราจะได้ขึ่นเครื่องเกือบ 11 นาฬิกา เนื่องจากหมอกลงจัดที่กาฐมาณฑุ ทำให้เครื่องบินไม่สามารถขึ้นลงได้ ต้องรอจนหมอกจาง แต่เวลาที่หายไปหมายถึงเวลาที่เราสามารถใช้เวลาชมสถานที่ที่เหลืออยู่น้อยตามไปด้วย ดังนั้นเวลาที่เหลือต่อจากนี้จึงเป็นรายการชะโงกทัวร์ไปโดยแท้จริง
            แต่ความโชคร้ายมันก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ในช่วงเวลาเล็กๆระหว่างการบินกลับมากาฐมาณฑุ พวกเราก็โชคดีได้ยลเทือกเขาหิมาลัยสมใจ ด้วยวิวแบบพาโนรามาท้องฟ้าสวยใส ยิ่งใหญ่จนพวกเราได้แต่ตื่นตลึงในความงดงามของธรรมชาติ และ ความยิ่งใหญ่ของขุนเขา บนความสูงไม่น้อยกว่า 3,000 เมตร เรายังต้องแหงนหน้าชม คงต้องขอบคุณเหล่าทวยเทพของชาวเนปาลที่ประทานความเมตตา ให้มนุษย์กลุ่มเล็กๆกลุ่มนี้ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของหิมาลัยเป็นบุญตา




            จากสนามบิน ตรีภูวัน พวกเราก็มุ่งหน้าไปเมืองปักตาปูร์ สำหรับพวกเราบางคน ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองและหวังว่าไกด์จะพาไปชมไม่ซ้ำกับที่เราไปมาแล้ว และก็สมหวังอีกครั้งเพราะไกด์ได้พาไปชมเมืองด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาที่เราตั้งใจจะกลับมาอีกครั้ง และ ไปทางทิศตะวันออกที่เรายังไม่ได้ไป  ที่หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาวันนี้ มีการเอาเครื่องปั้นดินเผาออกมาตากแดด ทำให้เรามีมุมให้ถ่ายภาพได้มากมายแต่ก็ยังต้องรีบถ่ายเร็วๆเช่นเคย บ่ายนี้พวกเราได้ชมพระราชวัง 55 พระแกล ซึ่งมีประตูทองหรือชุนโดกาที่เป็นผลงานทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่แกะสลักภาพทวยเทพอย่างงดงาม และตำหนักเทวีตะเลจู ซึ่งเป็นศาสนสถานที่งดงามมากของฮินดู พวกเราได้แต่ดูด้วยตาเท่าที่สามารถจะชะโงกดูได้ เพราะไม่อนุญาตให้คนนอกศาสนาเข้าไปและห้ามถ่ายภาพอีกด้วย


            เป็นที่น่าสังเกตว่า จตุรัสดุรบาร์ที่กาฐมาณฑุ , จตุรัสที่เมืองปาทันหรือลลิตปูร์ และ จตุรัสที่เมืองปักตาปูร์  มีรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เหมือนกันจนแทบจะแยกไม่ออก เนื่องจากสร้างในสมัยกษัตริย์องค์เดียวกัน โดยแบ่งเมืองให้พระโอรส 3 พระองค์ ปกครอง และทั้ง 3 เมืองก็จะแข่งขันในด้านการสร้างศิลปะวัฒนธรรมกันอย่างเต็มที่ ทำให้หุบเขากาฐมาณฑุเป็นแหล่งที่เฟื่องฟูไปด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมที่งดงาม ปัจจุบันได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมถึง 8 แห่ง  ซึ่งจนถึงขณะนี้พวกเราก็ได้เยี่ยมชมไปแล้ว 4   แห่ง คือ  จตุรัสดุรบาร์ที่กาฐมาณฑุ , จตุรัสเมืองปาทันหรือลลิตปูร์ . สยมภูวนาท  .ปักตาปูร์  ยังเหลืออีก 4 แห่ง ที่ต้องไปในวันพรุ่งนี้
            วันรุ่งขึ้น หลังจากการขึ้นไปพักบนยอดเขา นากาก๊อต(Nagarkot) และชวดการชมพระอาทิตย์ขึ้นเพราะหมอกลงจัดเช่นเคย  โปรแกรมทัวร์วันนี้ คือการชมมรดกโลกที่เหลืออีก 4  แห่ง ให้ครบทั้งหมด  ที่แรกสำหรับวันนี้คือ วัดจังกุนารายัน (Changunarayan)  ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในหุบเขากาฐมาณฑุ สร้างถวายพระวิษณุ ที่ยังคงความงดงามและสมบูรณ์ทั้งตัวอาคาร โบราณวัตถุที่อยู่ภายในวัด และเป็นวัดต้นแบบของวัดฮินดูในหุบเขานี้ โดยเฉพาะรูปแกะสลักพระวิษณุทรงครุฑ สวยงามจนรัฐบาลเนปาล นำมาเป็นแบบบนธนบัตร ( แบบเดียวกับ ที่วิหารวัดภูมินทร์ ที่น่าน ได้เป็นแบบปรากฏบนธนบัตรของไทยเราอยู่หลายปี )  และก็น่าเสียดายมากที่ใช้เวลาที่นี่น้อยมาก ทำให้พลาดภาพสวยๆของแสงยามเช้ากับโบราณสถานเก่าแก่แห่งนี้อย่างน่าเสียดาย

            ต่อจากที่นี่ พวกเรามุ่งหน้าไปวัดปศุปฏินาถ (Pasupati Nath)  เป็นวัดที่สร้างถวายพระศิวะ  ดังนั้นที่นี่จึงมีศิวะลึงค์มากมาย  เนื่องจากเป็นวัดฮินดูสำหรับพวกเราชาวต่างชาติจึงสามารถชมวัดได้เฉพาะด้านนอกจากหลังวัดริมแม่น้ำบักมาตี  ซึ่งมีการทำพิธีเผาศพให้กับคนตาย โดยก่อนจะเผาศพจะต้องมีการทำพิธีชำระล้างด้วยน้ำจากแม่น้ำบักมาตี ที่เชื่อกันว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต้นแม่น้ำคงคา  และจะช่วยชำระมลทินให้หมดไปจากผู้ล่วงลับ จากนั้นศพจะถูกยกมาไว้ บนฆาตหรือเชิงตะกอนริมฝั่งบัคมาตี และทำพิธีเผาศพกันกลางแจ้งอย่างเรียบง่าย โดยมีทายาทผู้ชาย นุ่งขาว โกนศรีษะเป็นผู้ทำพิธีลอยเถ้าอังคารลงสู่แม่น้ำบักมาตีแห่งนี้ เพื่อให้กลับสู่อุ้งหัตถ์แห่งเทพเทวะทั้งหลาย ภาพทายาทชายนั่งเหม่อมองเปลวไฟที่กำลังแผดเผาร่างของญาติผู้ใหญ่ อาจเป็น พ่อ หรือ แม่ ก็ได้ ให้ความรู้สึกเศร้าสะเทือนใจไปด้วย






            ออกจากวัดปศุปฏินาถ พวกเราก็มุ่งหน้าไปสถูปโพธานาถ(Boudhanath) ชุมชนชาวทิเบตที่ใหญ่ที่สุด องค์สถูปทรงกลมขาวใหญ่ประดับยอดด้วยภาพดวงตาเห็นธรรม รอบสถูปขวักไขว่ไปด้วยผู้จาริกแสวงบุญเดินสาธยายมนต์ไปรอบๆสถูปอย่างน่าเลื่อมใส



            มรดกโลกแห่งสุดท้ายที่พวกเราได้ไปชมคือ บุดานีลคันถะ(Buudhanikantha)  วัดวิษณุเทพเป็นที่เคารพของชาวฮินดู มีเทวรูปพระวิษณุปางบรรทมสินธุ์อันยิ่งใหญ่ เป็นประติมากรรมหินที่แกะสลักโดยช่างชาวลิจฉวี ที่สามารถแกะสลักได้อย่างทรงพลังและเที่ยงตรงที่สุด มีคำพยากรณ์แห่งความตายห้ามมิให้กษัตริย์ของเนปาลทอดพระเนตรไปยังเทวรูป
            ในที่สุดเราก็ได้ชมมรดกโลกทางวัฒนธรรมครบทั้งหมด 8 แห่ง  ด้วยความอิ่มเอม และชื่นชมในความเป็นอัจริยภาพของช่างชาวเนปาลที่สามารถรังสรรค์ผลงานทางศิลปะได้อย่างงดงาม และยิ่งใหญ่  หลังจากนี้ก็เป็นรายการช้อปปิ้งเพื่อพยายามใช้เงินรูปีที่แลกไว้ให้หมด เพราะพรุ่งนี้เช้าก็จะต้องเดินทางกลับมายังชีวิตจริงที่สับสนวุ่นวายแล้ว
            แต่นาทีสุดท้ายก่อนที่เครื่องบินจะบินพ้นดินแดนขอบป่าหิมพานต์แห่งนี้  เราก็ยังได้รับการลาจากด้วยภาพความยิ่งใหญ่ของเทือกเขาหิมาลัยที่แม้แต่ปุยเมฆยังพ่ายแพ้ต่อความสูง  เป็นความยิ่งใหญ่ ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติแสดงให้มนุษย์ตัวกระจ้อยร่อยได้ประจักษ์ชัดเป็นการส่งท้าย ก่อนที่จะพ้นเขตดินแดนแห่งความฝันที่เราสามารถสัมผัสได้ในยามตื่น และจะประทับไว้ในใจตราบนานเท่านาน.

No comments:

Post a Comment

ผ่านมาแล้วอย่าผ่านเลยไป แวะทักทายกันสักนิด......