ติดตามตอนแรก Angkor Wat เมืองมรดกโลกโบราณ ได้ที่นี่
เมื่อไปนครวัดแล้ว ก็ต้องไป นครธม ด้วย เป็นสถานที่คู่กัน แยกจากกันไม่ขาด
นครธม (Angkor Thom) มีความหมายว่า เมืองใหญ่ ในอดีตหลายร้อยปีก่อนเคยมีสถานะเป็นเมืองหลวงของขอมโบราณ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และยังเป็นศูนย์กลางของการก่อสร้างปราสาทขนาดใหญ่ต่าง ๆ มากมาย ดั่งจารึกหนึ่งได้กล่าวว่าเปรียบเปรย พระเจ้าชัยวรมันว่าเป็นเสมือนเจ้าบ่าว ส่วนเมืองนั้นเปรียบเป็นเจ้าสาวของพระองค์
นครธมตั้งอยู่ห่างจากนครวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีกำแพงเมืองซึ่งก่อด้วยศิลาแลงสูง 7 เมตร ยาว 3 กิโลเมตรทั้งสี่ด้าน ล้อมรอบด้วยคูน้ำกว้าง 80 เมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5,625 ไร่ ในเขตนครธมมีพระราชวังและปราสาทหินมากมาย ได้แก่ ปราสาทบายน ปราสาทพระขรรค์ เป็นต้น
เมื่อเดินทางจากนครวัดมาถึงนครธมทางประตูเมืองด้านทิศใต้ จะพบกับสะพานหินสลักขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อข้ามคูเมือง สองข้างของสะพานมีรูปประติมากรรมลอยตัว (หินแกะสลัก) ของเทวดาและยักษ์ 54 องค์กำลังยื้อยุดฉุดดึงพญานาคเพื่อกวนเกษียรสมุทร อันเป็นตอนเริ่มต้นจากนิยายปรัมปราที่พวกพรามหณ์เล่าถึงตอนกะเนิดโลกมนุษย์และจักรวาล โดยจะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่ 2 สะพาน เมื่อเข้าสู่ใจกลางนครธมเป็นปราสาทหลักของพระเจ้าชัยวรมันเรียกว่า“ปราสาทบายน”
ซุ้มประตูทางเข้า มีหินทรายเเกะสลักรูปพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่บนยอดทั้งสี่ทิศ ด้วยสายตาที่ทอดมองลงต่ำและรอยยิ้มแบบบายนที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา ด้านข้างของกรอบประตูจะเป็นประติมากรรมลอยตัวพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียร
ผ่านซุ้มประตูเข้ามาแล้วจะพบ ปราสาทบายน เป็นปราสาทหลวงประจำรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถูกสร้างขึ้นโดยการนำเอาหินมาวางซ้อนๆกันขึ้นเป็นรูปร่าง ปราสาทบายน นั้นสร้างขึ้นตามแบบแผนของยันตระซึ่งเป็นเรขาคณิตของพุทธศาสนาของอินเดีย เป็นสัญลักษณ์ของมันดาล่าหรือรูปวงกลมอันเป็นสัญลักษณ์แทนจักรวาลและพลังศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดูเมื่อได้เข้าไปสัมผัสยังปราสาทแห่งนี้จะรู้สึกเหมือนมีคนคอยจ้องมองเราอยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ประทับใจของปราสาทแห่งนี้
ปราสาทบายน แม้จะเป็นปราสาทไม่ใหญ่โตเท่านครวัด แต่มีความแปลกและดูลี้ลับทั้งปราสาทมีแต่ใบหน้าคน หากขึ้นไปยืนอยู่ภายในปราสาทนี้ไม่ว่ามุมไหนก็หาได้รอดหลุดพ้นจากสายตาเหล่านี้ได้เลย
ปรางค์ปราสาทบายนทั้ง 54 ปรางค์ถูกสลักเป็นภาพพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผันพระพักตร์ออกไปทั้งสี่ทิศ เพื่อสอดส่องดูแลความทุกข์สุขของเหล่าพสกนิกรของพระองค์ให้อยู่เย็นเป็นสุข ใบหน้าของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั้น นัยว่าใช้ใบหน้าของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นต้นแบบในการแกะสลักนั่นเอง ใบหน้าเหล่านั้นหากนับรวมกัน 54 ปรางค์ปราสาทปรางค์ปราสาทละ 4 หน้า จะมีรวมถึง 216 หน้า
ด้านเหนือของ ปราสาทบายน จะเป็นกลุ่มปราสาทเล็กๆ เช่น Terrace of the Elephants , Phimeanakas , Preah Ponlea Sdach Komlong (Terrace Of The Leper King) , Prasat Preah Palilay , Preah Pithu U ,Prasat Krae Preah ,
ปราสาทตาพรหมถูกสร้างเคียงคู่กับปราสาทพระขรรค์ ปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทที่ถูกปล่อยให้อยู่กับธรรมชาติ หลังจากการค้นพบปราสาทต่างๆ โดยชาวฝรั่งเศส แต่เดิมปราสาทนครวัดเองก็อยู่ในลักษณะเช่นนี้ก่อนที่จะมีการบูรณะในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ในขณะที่ปราสาทตาพรหม ถูกเก็บรักษาไว้เพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงว่าปราสาทอยู่กับธรรมชาติมาได้เกือบ 500 ปี อันเป็นอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อให้เห็นลักษณะของต้นไม้ที่เกาะกุมปราสาท ต้นไม้อยู่ 2 ชนิด ต้นที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า ต้นสะปง หรือภาษาไทยเรียกว่า ต้นสำโรง ทั้งไม้เล็กและไม้ใหญ่ต่างเติบโตตามสภาวะที่เอื้ออำนวยรากของไม้ใหญ่ที่แทรกชอนไชไปบนแผ่นศิลา เพื่อจะหาที่ลงดินเกิดเป็นรูปทรงคล้ายหนวดปลาหมึกเกาะกุมองค์ปราสาททำให้ช่วยประคองยึดตัวปราสาทไม่ให้พังลงมาได้
ปราสาทตาพรหม อยู่นอกเขตพระนคร ทางตะวันออกของ ปราสาทบายน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1729 เป็นปราสาทหินในยุคสุดท้ายของอาณาจักรขอม สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นักท่องเที่ยวมาปราสาทตาพรหมแห่งนี้ส่วนใหญ่เพื่อมาชมและถ่ายรูป รากต้นสะปง ที่เลื้อยทับตัวปราสาท ซึ่งเป็นฉากของภาพยนต์ชื่อดังอย่าง Tomb Raider นั่นเอง
ปราสาทพระขรรค์ (Prasat Preah Khan) หรือที่ชาวเขมรออกเสียง ปราสาทเปรี๊ยะคัน เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำขนาดเล็กจำหลักด้วยศิลาทรายตั้งอยู่ภายในปราสาทองค์หนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่เก็บอัฐิของพระราชบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทพระขรรค์เป็นศาสนสถานที่ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพพระพุทธรูปมักถูกทำลายหรือแก้ไข จะเหลือก็แต่ภาพจำหลักนูนต่ำของฤๅษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพฤๅษีกำลังนั่งบำเพ็ญพรตในท่า “โยคาสนะ” (นั่งชันเข่าและไขว้เท้า) สลักอยู่ตามผนังหรือเสาภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว
ปราสาทบันทายสรี ตั้งอยู่นอกเขตพระนครไปทางเหนือประมาณ 28 กม. ผู้สร้างเป็นราชครู ยัชญวราหะ ซึ่งเป็นพราหมณ์นักปราชญ์ เคยเป็นทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นพระอาจารย์ให้กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 เมื่อยังทรงพระเยาว์ ตัวปราสาทบนเนินดินอาจทำเป็นฐานเตี้ยๆ ยกพื้นขึ้นเพื่อรองรับตัวปราสาทเท่านั้น เป็นเทวสถานขนาดเล็ก แต่มีความงามทางด้านลวดลายเป็นเลิศ ศิลปะมีลักษณะพิเศษจนต้องจัดเป็นศิลปะสมัยหนึ่งโดยเฉพาะ ศิลปะแบบบันทายสรีถูกจัดให้อยู่ในยุคราว พ.ศ. 1510-1550 ก่อสร้างด้วยหินทรายสีชมพู เนื้อละเอียด การสลักลวดลายดูอ่อนช้อย ลายคมชัด ดูมีชีวิตชีวา ช่างในสมัยโบราณได้สร้างอย่างบรรจงและยังได้รวบรวมเอาศิลปะในยุคเก่าหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแบบพระโค ศิลปะแบบบาแค็ง ศิลปะแบบเกาะแกร์และแปรรูป มาอนุรักษ์ไว้ ณ ปราสาทแห่งนี้
ที่เหลือก็เป็นปราสาทเล็ก ปราสาทน้อย ที่เราจอดแวะถ่ายระหว่างทาง ซึ่งจำชื่อไม่ได้ เพราะถ่ายไว้นานแล้ว พึ่งเอามาโพสต์รวมไว้ในบล๊อคนี้
No comments:
Post a Comment
ผ่านมาแล้วอย่าผ่านเลยไป แวะทักทายกันสักนิด......