Saturday, 18 October 2014

Leh-Dalakh สวรรค์อยู่แค่เอื้อม




เมืองลาดักห์ ตั้งอยู่ตอนเหนือของประเทศอินเดีย ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับฑิเบต อยู่ห่างจากเมืองนิวเดลฮี (New Delhi) เป็นระยะทาง 615 กิโลเมตร ภายใต้การปกครองของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ (Jammu & Kashmir) ซึ่งประกอบด้วย 3 แคว้นคือ แคว้นจัมมู แคว้นแคชเมียร์ และ แคว้นลาดักห์ โดยมี เลห์ (Leh) เป็นเมืองหลวงของลาดักห์ มีภูมิประเทศที่ถือว่าตั้งอยู่บนที่ราบสูงที่สุดของอินเดีย โอบล้อมด้วยเทือกเขาทั้งสามด้านคือ ทางด้านเหนือติดกับเทือกเขาคุนลุน (Kunlun) ทางด้านตะวันตกติดกับเทือกเขาคาราโครัม (Karakoram Range) และทางด้านทิศใต้ ติดกับเทือกเขาหิมาลัย (Himalaya)


เมืองลาดักห์ ประกอบด้วยหุบเขาใหญ่ 5 หุบเขา คือ หุบเขาสินธุ (Indus Valley) หุบเขานูบร้า (Nubra Valley) หุบเขาชูมัทถัง (Chumathang Valley) หุบเขาซูรู (Suru Valley) และ หุบเขาซันสการ์ (Zanskar Valley) โดยมีหุบเขาสินธุเป็นหุบเขาที่สำคัญเพราะเป็นที่ตั้งของ เลห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแค้วนลาดักห์








ที่เที่ยวในเลห์ เมืองหลวงของดาลัคก์


มืองเลห์ ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงที่สูง 3,505 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ออกซิเจนจึงเบาบาง คนพื้นราบอาจรู้สึกเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะใครที่นั่งเครื่องบินตรงมาจากเดลี พอมาถึงเลห์ก็อาจเกิดอาการปวดหัว หรือหายในติดขัดเล็กน้อย สองสามวันแรกต้องใช้เวลาปรับตัวกันพอสมควร และไม่ควรกินยาแก้แพ้ความสูง แต่ควรพักผ่อนให้มากๆ กินอาหารให้ครบสามมื้อ ดื่มน้ำมากๆและควรออกมาเดินสูดอากาศบริสุทธิ์ ร่างกายก็จะค่อยๆปรับเข้ากับภูมิประเทศของเลย์ได้ ข้อสำคัญเวลานอนให้แง้มหน้าต่างเปิดไว้เล็กน้อย เพื่อให้อากาศถ่ายเทเข้าในห้อง















เมืองเลย์มีอาณาเขตแผ่กว้างออกไปอีกมาก จากถนนฟอร์ดเดินไปทางทิศตะวันออกเพียงนิดเดียว ก็จะถึงส่วนที่เรียกว่า Central Leh หรือ ใจกลางเมืองเลย์ ที่มี จัตุรัสใหญ่กลางเมืองจามามัสยิด ( Jama Masjid ) และวัดทิเบตชื่อ โจคัง ( Chokhang ) เป็นจัดเด่น ในอดีตเมืองเลย์เคยเจริญรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางของอาณาจักร อีกทั้งยังร่ำรวยด้วยการค้า เมืองเลห์เป็นเมืองในหุบเขาใหญ่ที่มีภูมิทัศน์แปลกตามีหินผาสีน้ำตาลเข้มเรียงรายราวปราการธรรมชาติ มีสายน้ำน้อยใหญ่ อุดมด้วยทุ่งข้าวบาร์เลย์
ใจกลางของเมืองเลห์อยู่บริเวณย่านการค้าที่เรียกว่า Main Bazzar ส่วนชานเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือที่เรียกว่าย่านจังสปา(Changspa) ซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองไปราว 1 กม.นั้นก็เป็นแหล่งรวมเกสต์เฮาส์และร้านอาหารมากมาเช่นกัน อีกย่านหนึ่งก็คือย่านคาร์ซู (Karzoo Area) อยู่ในทำเลที่เงียบสงบ















สถานที่ท่องเที่ยวในลาดักห์


พระราชวังเลห์ ( Leh Palace ) เลห์ ลาดัก

สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 17 มีทั้งหมด 9 ชั้น เคยเป็นพระตำหนักที่ประทับของราชวงศ์แห่งลาดัก ตั้งอยู่บนเนินสูงย่านใจกลางเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือ จะมองเห็นอาคารที่ตระหง่านอยู่บนยอดเขายิ่งยามเย็นจะมีแสงอาทิตย์สาดส่องกลายเป็นภูผาสีทองอร่าม งดงาม ประทับใจจนหลายคนขนานนามที่นี้ว่า The Palace of Golden Mountain บนจุดสูงสุดของภูมิเขานี้เป็นกลุ่มอาคารของ วัดนัมเกียล เซโม ( Namgtagyal Tsemo Gompa ) ที่สร้างหลังประกาศชัยชนะของทิเบตโบราณในปี ค.ศ. 1430 โดยกษัตริย์ เซงเก นัมเยล ( Sangge Namgyal ) จากนั้นอีก 200 ปีต่อมาในสมัยของกษัติย์ เซงกิ นัมเกียล ( Tashi Namgyal) ได้สร้างพระนาชวังขึ้นที่ลาดเขาต่ำลงไปจากบริเวณวัด Lion King เป็นฉายานามของกษัตริย์ เซงกิ นัมเกียล ซึ่งยังคงสัมผัสได้จาก การตกแต่งพระราชวังที่มีประติมากรรมแกะสลักไม้รูปสิงโตประดับอยู่มากมาย คำว่า Namgyal แปลว่า ชัยชนะบริเวณนี้มีการขนานนามอีกหลายนาม ได้แก่ พระราชวังแห่งชัยชนะ, ยอดเขาแห่งชัยชนะ, ป้อมปราการแห่งชัยชนะ, อารามแห่งชัยชนะ การขึ้นไปพระราชวังและยอดเขาแห่งชัยชนะสามารถทำได้ทั้งทางเดินและทางรถ ก่อนเข้าถึงพระราชวัง จะผ่าน วัดชัมปา ( Chamba Gompal ) ที่ประดิษฐานพระศรีอริยเมตรไตรยและรูปปั้นสิงโตก่อนจะลงสู่ชุมชนย่านใจกลางเมืองเลห์













Tsemo Maitreya Temple สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1430 ประดิษฐานพระพุทธรูปความสูงราวอาคาร 3 ชั้น พระตำหนักที่เคยเป็นที่ประทับของกษัตริย์ซิงเก นัมเกลนั้น ปัจจุบันเป็นสำนักงานของหน่วยงานอนุรักษ์โบราณสถานของรัฐบาลอินเดียสาขาลาดัก ป้อมแห่งชัยชนะสร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะเหนือกองทัพบัลติแคชเมียร์ (Balti Kashmir) ช่วงต้นศตวรรษที่ 16







เจดีย์สันติภาพ Shanti Stupa เมืองเลห์ ลาดักห์
เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำศิลปะแบบทิเบต มีฐานกลมวนรอบสองชั้น ส่วนยอดเป็นสีทองสุกปลั่ง คือ เจดีย์แห่งสันติภาพ ที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1985 โดย องค์กรพุทธศาสนาแห่งญี่ปุ่น ( The Japanese of World Peace ) ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนทั้งโลกร่วมมือร่วมกันใจกันสรรค์สร้างสันติภาพ และถือเป็นการฉลองวาระครบรอบ 2,500 ปี แห่งพระพุทธศาสนาอีกด้วย โดยองค์ไลลามะ ได้เสร็จมาเป็นประธานเปิดพระเจดีย์ด้วยพระองค์เอง ทุกวันนี้เจดีย์แห่งสันติภาพกลายเป็นหนึ่งศูนย์รวมใจของคนเลห์ ส่วนองค์กรพุทธศาสนาแห่งญี่ปุ่นผู้สร้างเจดีย์นี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1917 โดยพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นชื่อ นิชิดัทสุ ฟูจิอิ ( Nichidatsu Fujii ) เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาและสันติภาพให้เฟื่องฟู เจดีย์แห่งสันติภาพ ( Peace Pagoda หรือ Peace Stupe ) ไว้ทั่วโลกในลักษณะคล้ายคลึงกัน ทั้งในอินเดีย เนปาล ออสเตรเลีย อังกฤษ อิตาลี โปแลนด์ เกาหลี ญี่ปุ่น โดยเจดีย์สันติภาพแห่งแรกตั้งอยู่ที่ เมืองฮิโรซิม่า และนางาซากิ เมืองที่ถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนบนยอดเขานี้มีลักษณะเป็นลานกว้าง มักมีนักท่องเที่ยวยุโรปและญี่ปุ่นขึ้นมานั่งชมวิวและถ่ายภาพ เจดีย์สันติภาพ Shanti Stupaตั้งอยู่บนยอดเขาในย่านจังสปา ห่างจากใจกลางเมืองเลห์ประมาณ 2 กม.เป็นเจดีย์สีขาวขนาดใหญ่ใหม่เอี่ยมมองเห็นได้จากแทบทุกมุมในเลห์ นักท่องเที่ยวนิยมเดินขึ้นบันได ใช้เวลาประมาณ 15 นาที เพื่อขึ้นไปเที่ยวชม วิวเมืองเลห์ยามเย็นจากมุมสูงที่บริเวณลานกว้างหน้าเจดีย์ นับเป็นจุดชมวิวที่สวยและโรแมนติกที่สุดมุมหนึ่งในเลห์ เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินได้งดงามที่สุด ทางด้านหลังของเนินเขามีเส้นทางให้รถยนต์ขึ้นได้ เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเป็นคณะใหญ่ซึ่งอาจมีเวลาจัด หรือว่าร่างกายไม่เอื้ออำนวย








วัดติกเซ่ Thiksey Gompa ลาดัก

ห่างจากพระราชวังเชไปทางตะวันออกเพียง 2 กม. วัดติ๊กเซ่ เป็นวัดอารามเก่าแก่อายุ 600 ปีแล้วสถาปนาขึ้นครั้งแรกช่วงต้นศตวรรษที่ 14 โดยท่าน เชรัป ซังโป ( Sherab Zangpo ) แห่งสต็อดในหุบเขาซันสการ์ ( Stod of Zanskar Valley ) ต่อมาในปี ค.ศ. 1430 ท่าน ปัลเดน เชรัป ( Pandal Sherab ) หลานของท่านเชรัป ซังเป จึงได้ทำการก่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ ณ ฝั่งเหนือของแม่น้ำสินธุ เป็นพระอารามใหญ่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาลูกย่อมๆ กลางทุ่งราบเวิ้งว้างแลเห็นเป็นสง่าแต่ไกล รูปทรงของวัดมีความคล้ายคลึงกับ พระราชวังโปตาลา ( Potala Palace ) จนได้รับฉายาว่า Mini Potala โดยชาวตะวันตกทั่วไป และมีตัวอาคารทรงสี่เหลี่ยมขนาดมหึมาที่ถูกระบายด้วยสีแดงและขาวนับร้อยหลัง เรียงรายลดหลั่นไล่ระดับอิงขึ้นไปตามเนินเขาชันที่ความสูงราว 3,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ประกอบกันเข้าเป็นป้อม

วัดติ๊กเซ่ คือตัวแทนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของลามะนิกายหมวกเหลืองนอกทิเบต พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่กว่า 60- 80 รูป ทำหน้าทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ทุกเช้าเวลาประมาณ 06.30 สามารถเข้าร่วมชมพิธีทำวัตรเช้าได้ด้วยอาการสงบ หลังจากพิธีทำวัตรเช้าเสร็จสิ่งหนึ่งที่ห้ามพลาด คือ การเดินเข้าไปชมวิหารประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตรย ความสูง 15 เมตรเท่าอาคาร 2 ชั้น อันงดงาม ถือว่าเป็น องค์ที่ใหญ่ที่สุดในหุบเขาลาดักห์และเป็นงานศิลป์ชั้นเอกอยู่ชิ้นหนึ่งของลาดักห์ สร้างขึ้นโดยองค์ดาไลลามะองค์ที่ 14 เมื่อปี ค.ศ. 1980 เป็นฝีมือการรังสรรค์ของช่างศิลป์ชื่อ นาวาง เซริง ( Nawang Tsering ) ซึ่งใช้เวลาบรรจงสร้างอยู่ราว 2 ปีจนเสร็จสมบูรณ์ แม้ฤดูการท่องเที่ยวลาดักห์ จะอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน หลังจากนั้นเมื่ออากาศเริ่มเย็นใกล้มีหิมะโปรยปราย และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่กลับบ้านกันเกือบหมด วัดติ๊กเซ่กลับมิได้หลับใหล ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี ระหว่างวันที่ 17-19 เดือนเก้า ตามปฏิทินจันทรคติแบบทิเบตทางวัดก็จัดให้มีพิธี ติ๊กเซ่ กุสโตร์ ( Thiksey Gustor ) มีการเฉลิมฉลองด้วย ระบำหน้ากาก อันมีสีสันแปลกตา ซึ่งในปี ค.ศ. 2010 จะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 ตุลาคม และปี ค. ศ 2011 จะจัดกันในวันที่ 13-14 พฤศจิกายน วัดติ๊กเซ่ เป็นอารามใหญ่อันดับ 2 ในแคว้น















 









หุบเขานูบร้า ลาดัก

ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือจากเมืองเลห์ เนื่องจากเส้นทางเลห์-หุบเขานูบร้า ( Nubra Valley ) เป็นเส้นทางตรงสู่แดนอินเดีย-ปากีสถาน ซึ่งถือเป็นเขตควบคุมพิเศษ เมื่อรถแล่นมาได้ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดตรวจเอกสารขออนุญาตเข้าพื้นที่ต้องใช้เวลาราว 15 นาที จุดแรกที่ต้องแสดงเอกสารคือบริเวณ

คาร์ดุง-ลา ( Khardung-La ) ความสูง 5,606 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อันเป็นช่องเขาสูงสุดของเส้นถนน หรือ พาสส์ ที่ตรงกับภาษาทิเบตว่า ลา โดยพาสส์แห่งนี้เดิมทางการอินเดียเขาให้เป็น ถนนที่สูงที่สุดในโลก หรือ World’s Highest Motorable Road ซึ่งปัจจุบันในระดับนานาชาติเขาไม่ค่อยยอมรับกัน เนื่องจากยังมีพาสน์อีกสองสามแห่งในทิเบตตะวันตกที่สูงกว่านี้อีก ถัดเบื้องล่างลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะมองเห็นหุบเขาเวิ้งวางที่ทอดยาวออกไปจรดภูมิเขาหิมะ คือเทือกเขาคาราโครัม ( Karakoram Range ) ในปากีสถานนั้นเอง ออกจากคาร์ดุง-ลามาแล้ว ถนนหิมะฤดูก่อนกัดกร่อนเป็นร่องลึก จนมาถึงจุดตรวจใบอนุญาตเข้าพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง บริเวณ หมู่บ้านพูลลูเหนือ ( North Pullu ) พอพ้นจุดตรวจนี้ไป ก็จะพบกับทหารมากมาย เพราะเขตพื้นที่จากนี้ไปเป็นเขตยุทธศาสตร์อันเปราะบาง และนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าสู่เขานูบร้าได้ไกลสุด แค่ หมู่บ้านดิสกิต ( Diskit ) ซูมอร์ ( Sumer ) ฮุนเดอร์ ( Hunder ) และ ปานามิก ( Panamik ) เท่านั้น หุบเขานูบร้าเป็นหุบเขาในระดับต่ำสุดของเขต ลาดักห์ คือสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 3,000 กว่าเมตรเท่านั้น ชื่อเดิม

จากจุดสูงสุดของเส้นทางสามารถเห็นแนวเขาคาราโครัม แห่งปากีสถาน ที่มีหิมะปกคลุม การมาที่นูบร้าวัลเลย์นักท่องเที่ยวต้องทำ permit เช่นเดียวกับการเดินทางไปทะเลสาบปันกอง ถือเป็นพื้นที่ห่างไกลและใกล้ชายแดน วิวระหว่างทางสู่นูบร้าวัลเล่ย์ก็สวยแปลกตา โดยการเดินทางจะต้องแวะพักรับประทานอาหารกลางวันระหว่างทาง แล้วจึงเดินทางต่อ ใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมงจึงจะถึง นูบร้าวัลเล่ย์

ข้อแนะนำ การหยุดเที่ยวที่ Khardung La Pass ไม่ควรอยู่ตรงนี้นานเกินไปเพราะมีความสูงถึง 5600 เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศจะเบาบางมากอาจจะให้เราไม่สบาย หรือ มีอากาศแพ้ความสูงได้ ควรอยู่สัก 15-20 นาทีก็นั่งรถลงจากจุดนี้มาได้ หากรู้สึกว่าเหนื่อยมากให้พักที่รถจะดีกว่า







สถานที่ท่องเที่ยวในนูบร้าวัลเล่ย์

หมู่บ้านดิสกิต เป็นหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบนี้ เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่
หมู่บ้านฮุนเดอร์ เรียกว่า หมู่บ้านธารน้ำไหล เพราะไม่ว่าจะไปทางไหนของหมู่บ้านจะได้ยินเสียงธารน้ำไหลตลอดเวลาลา ที่ฮุนเดอร์ยังมีเนินทะเลทราย สีขาว มีอูฐไว้บริการนักท่องเที่ยวสำหรับขี่และถ่ายรูป เมื่อมองไปสุดลูกหูลูกตาก็จะเห็นภูเขาที่มีหิมะปกคลุมพร้อมเนินทรายอยู่ข้างหน้า สวยมากคะ ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการชมทะเลทรายคือ ช่วงเวลาเช้า หรือ เย็น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีแสงสวยและไม่ร้อนจนเกินไป

หมู่บ้านซูเมอร์ อยู่ทางแยกหนึ่งแยกไปจากหมู่บ้านดิสกิต มีวัดที่สำคัญคือ Samstemling Gompa ภายในวัดประกอบไปด้วยวัดน้อยใหญ่รวมกันกว่า 7 วัดด้วยกัน มีพระและเณร จำนวนมาก
หมู่บ้านปานามิก อยู่ถัดจากหมู่บ้านซูเมอร์ไปอีกทางตอนเหนือราว 21 กิโลเมตร เป็นจุดสุดท้ายในหุบเขานูบร้าวัลเล่ย์ ที่นักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตให้ไปถึงได้ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือ น้ำพุร้อน Hot Sring














วัดดิสกิต (Disket Gompa) เป็นวัดเก่าแก่ และใหญ่ที่สุดในแถบนูบร้าวัลเล่ย์ นี้ สร้างในปี ค.ศ. 1420 มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เห็นโดดเด่น อยู่้ข้างหน้าวัด วัดนี้มีการเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเข้าชมคะ ที่วัดยังเป็นจุดชมวิวที่ดีอีกจุดหนึ่งที่สามารถเห็นหมู่บ้านดิสกิตและหมู่บ้านฮุนเดอร์ที่อยู่ทางซ้ายมือที่ไกลออกไป




 



ชื่อเดิมของหุบเขานี้คือ Ldumra แปลว่า ทุ่งดอกไม้ เนื่องจากพื้นที่นี้ไม่สูงมากนัก อากาศอบอุ่น พื้นดินอุดมกว่าหุบเขาอื่นๆ จึงเกิดพืชพรรณไม้ผลงอกงาม ความอุดมของพื้นดินและสภาพอากาศเหมาะสมให้หุบเขานูบร้าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญแห่งหนึ่งของดาลักห์ เพราะสามารถปลูกพืชผลได้หลายอย่างทั้งข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ถั่ว มัสตาร์ด รวมถึงแอบเปิ้ล แอปปริคอท วอลนัต และอัลมอนด์ หุบเขานูบรา (Nubra Valley) นูบราวัลเลย์ หมายถึงดินแดนในหุบเขาทางเหนือของเลห์อันอุดมสมบูรณ์ด้วยมีแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำชย็อก (Shyok River) ไหลผ่าน อากาศบริเวณหุบเขานูบรานั้นอบอุ่นกว่าในเลห์ ในฤดูร้อนแม้ดวงอาทิตย์จะตกดินไปแล้วก็ยังสามารถนั่งเล่นในสวนได้สบายๆ ไม่หนาวเย็นมากเหมือนอากาศในเลห์ยามค่ำคืน

หมู่บ้านฮุนเดอร์ ลาดัก

เป็นหมู่บ้านที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใบหนาเพราะอยู่ในหุบเขาเล็กๆขนาดกะทัดรัดเหมาะแก่การเดินเล่นไปรอบๆหมู่บ้านเส้นทาง 7กม. ระหว่างดิสกิตกับฮุนเดอร์ นั้นนักท่องเที่ยวบางคนอยากสัมผัสการเดินแบบ Baby Trek ก็เลือกที่จะเดินผ่านเนินทรายขาวละเอียดอันเป็นทิวทัศน์ที่แปลกตาไม่เหมือนทะเลทรายที่ไหนเพราะเมื่อมองไปจนสุดสายตาก็จะเป็นทิวเขาสูงปกคลุมด้วยหิมะเป็นหมวกสีขาวเป็นฉากหลัง และมีต้นไม้ที่ชื่อว่าต้น Sea-buckthorn Berry ลักษณะเป็นไม้พุ่มหนามผลัดใบ มีผลสีส้มเล็กๆ ขนาด 6-9 มิลิเมตร ที่ออกในฤดูร้อน นำไปใช้ประโยชน์ทั้งกินสดๆ เอาไปทำแยม ไพน์ น้ำผลไม้ เหล้า และโลชั่นบำรุงผิว และสัตว์ในทะเลทรายยังชอบผลไม้ชนิดนี้มาก และนอกจากนี้เรายังสามารถขี่อูฐท่องทะเลทราย ค่าขี่อูฐ 15 นาที 200 บาท โดยอูฐหนึ่งตัวนั่งได้หนึ่งคน เจ้าอูฐชนิดนี้เป็นอูฐสองหนอก ( Bactrian Camel ) ซึ่งต่างกับอูฐอียิปต์ ( Arabian Camel ) ที่มีหนอกเดียว










วัดดิสกิต Diskit Gompa ลาดัก

จากทางแยกถนนสายหลักเลาะเลียบถนนที่ราบลุ่มกว้างใหญ่เป็นระยะทางราว 15 กม. ก็มาถึงหมู่บ้านดิสกิตเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่สุดในแถบนี้ วัดดิสกิต Diskit Gompa โดดเด่นสะดุดตาได้แต่ไกลเพราะทำเลที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเขา เป็นวัดเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในเขตหุบเขานูบรานี้ สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1420 ปัจจุบันมีพระสงฆ์ 120 รูป โดยมีท่านเจ้าอาวาสคือท่านลามะ นาวาง จามปา สแตนซิน ผู้ซึ่งถือว่าได้กลับชาติมาเกิดในตำแหน่งนี้เป็นครั้งที่ 9 ก่อนตามความเชื่อของชาวลาดักห์ ส่วนตัวอารามนี้ตั้งอยู่บนเขาสูง ถึงลานจอดรถหน้าวัด จะต้องจ่ายค่าเข้าชมคนละ 20 รูปี เสียก่อน จากนั้นเดินขึ้นบันได ผ่านกุฏิพระไปยังตัววิหาร มีห้องที่เปิดให้เข้าชม 3 ห้องด้วยกัน โดยมีพระที่เข้าเวรคอยไขกุญแจแต่ละห้องให้ ห้องโถงโล่งกว้างห้องแรกเป็นห้องสวดมนต์หรือทำวัตรของคณะสงฆ์ มีหน้าต่างตลอดแนวความยาวของห้องทำให้ดูสว่างไสวสะอาดตา ห้องถัดไปค่อนข้างเล็กและมืด เป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆและรูปปั้นของพระสงฆ์องค์สำคัญ และเป็นที่เก็บคัมภีร์โบราณด้วย ห้องที่สามค่อนข้างแปลกตาเพราะรูปปั้นของเทพต่างๆ ล้วนถูกคลุมพระพักตร์ด้วยผ้าไหมแพรพรรณอย่างดี ซึ่งทางวัดจะปลดผ้านี้ออกในช่วงเทศกาล Dosmoche ( ประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมของทุกปี) เท่านั้น นอกจากความอลังการภายในวัดแล้ว เมื่อมองจากบนวัดกลับลงมายังหมู่บ้านดิสกิต ไกลออกไปก็จะเห็นทัศนียภาพกว้างไกลของเทือกเขาใหญ่ แม่น้ำ หมู่ไม้สีเขียวของทิวต้นสน ต้นวิลโล่ และต้นป๊อปล่า ที่ให้ร่มเงา จากยอดเนินบนวัด มองลงมา จะเห็นทิวทัศน์หมู่บ้านดิสกิตโดยรวมทั้งหมด ไกลออกไปทางซ้ายมือคือเส้นทางไปสู่หมู่บ้าน ฮุนเดอร์ ถ้าทัศนวิสัยดีๆจะสามารถมองเห็นเนินทราย Sand Dunes ระหว่างทางจากดิสกิตไปฮุนเดอร์ได้ด้วย








จากเลห์ลงใต้ผ่าน เมืองเชย์ ( Shey ) ติ๊กเซ่ ( Thiksye ) กระทั่งถึง เมืองคารู ( Karu ) ลาดัก


จากนั้นก็แยกซ้ายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ความสูงถนนประมาณ 3,500 กว่าเมตรเหนือระดับน้ำทะเล จากเมืองคารู ผ่าน หมู่บ้านเซกติ (Sekti ) ต่ำลงเรื่อยๆจนลงไปสู่ทุ่งราบกับลำธารใส ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ ดูร์บัค ( Durbuk ) ลากา ( Laga ) และปันปัน (Punpun ) ภูมิประเทศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเต็มไปด้วยต้นหญ้าสั้นๆ ยังมีพวกมอสและดอกไม้สีเหลือง สีม่วง สีขาว เบ่งบานอยู่นับแสนๆล้านๆดอก อยู่ในบริเวณนี้ ที่เรียกกันว่าหุบเขาแห่งมวลมาลี หรือ Valley Flower ดอกไม้พวกนี้จัดอยู่ในกลุ่มดอกไม้อัลไพน์ ( Alpine Flower ) ที่ขึ้นอยู่บนเขาสูงเกิน 3,000 เมตร ในช่วงเดือนสิงหาคมของลาดักห์ ดอกไม้ทุ่งอัลไพน์จะบานสะพรั่ง และจะมีทุ่งหญ้าที่มีลักษณะที่ทางวิชาการเรียกว่า พีตบ็อก ( Peat Bog ) เหมือนกับที่พบบนอ่างขาง ยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ พีตบ็อกมีลักษณะเป็นดินหยุ่นหลวมๆคล้ายทุ่งฟองน้ำขนาดยักษ์อันเกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ตายลงทับถมกัน แล้วมีการย่อยสลายได้ไม่หมด จนสะสมเป็นชั้นดินพีตบ็อกขึ้นบ่งบอกว่าในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นบ่อบึงมาก่อนแล้วตื้นเขินขึ้นอย่างช้าๆ จนไม้พุ่ม หญ้า มอส ไลเคน และดอกไม้ขยายพันธุ์จนเต็มพื้นที่ และมีหิมายัน มาร์มอต ( Himalayan Marmot ) หรือคนที่นี้เรียกว่า เพีย มีลักษณะรูปร่างกลมจุ้มปุ๊ก เป็นกระรอกดินตัวใหญ่ ใบหน้าที่เหมือนหนูผสมกระรอกบวกกับขนสีน้ำตาลอ่อนจะอยู่เป็นครอบครัวใต้ดิน ขุดอุโมงค์ซับซ้อน มักจะพบได้เฉพาะบนเขาสูงอากาศเย็นหรือเขตอบอุ่นของโลก ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาสวิสแอลป์ อเมริกา และลาดักห์ เป็นต้น ปกติมาร์มอตจะจำศีลนานถึง 8 เดือนในฤดูร้อน เพื่อนกินๆแล้วผสมพันธุ์ ทุ่งราบแห่งนี้ยังเป็นที่เลี้ยงแพะนับร้อยตัว และมีเต๊นท์ของคนเร่ร่อนเลี้ยงตัว แยค ( Yak ) ซึ่งคนไทยเรียกว่า จามรี คือวัวหิมาลัยขนดำยาวรุงรังน่าเกรงขาม ตัวผู้มีขาโง้ง เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักถึง 1,000-1,200 กิโลกรัม จามรีเป็นสัตว์ที่พระเจ้าประธานเป็นของขวัญแด่คนหิมาลัย และเป็นส่วนหนึ่งใน อารยธรรมลาดักห์เลยก็ว่าได้ เพราะมันใช้ได้ทั้งบรรทุกของ เนื้อกินได้ หนังใช้ทำเครื่องกันหนาว ขนหางใช้ทำพู่ศักดิ์สิทธิ์ของ ลามะ มูลตากแห้งก็ใช้เป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ส่วนน้ำนมสดของจามรีก็เป็นอาหารหลักชนิดหนึ่งของชมพู่ทวีป และขาดไม่ได้คือเนยจากนมจามรีที่มีราคาสูง นิยมนำไปเป็นส่วนผสมในชาทิเบต ทุกวันนี้ในลาดักห์เราจะพบได้ทั้งจามรีเลี้ยง จามรีป่าและจามรีที่อุตริไปผสมกับวัวชาวบ้าน จนออกมาเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่คือ โซ ( Dzo ) และ โซโม ( Dzomo ) พ้นจากทุ่งดอกไม้เราก็พบกับทุ่งหญ้าเขียวขจีเวิ้งว้างกว้างใหญ่ และมีแอ่งน้ำเล็กๆกระจ่ายอยู่ทั่ว ริมบึงมีต้นหญ้าต้นกกงอกงาม และกลางทุ่งลิบๆ มีนกสีขาวคอยาวขนาดใหญ่ นั้นคือนก กระเรียนคอดำ ( Black-necked Crane ) เป็นนกที่ใกล้สูญพันธุ์ที่มีเหลืออยู่ไม่เกิน 6,000 ตัวทั่วโลก ความหลากหลายและคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ จึงกำลังจะได้รับการประการเป็นพื้นที่ ชุ่มน้ำอนุรักษ์ ตามอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำของโลก ( อนุสัญญาแรมซาร์ : Ramsar Convntion ) เขตพื้นที่นี้ถือว่าใกล้ชายแดนอินเดีย-จีน และถัดต่อมาคือ หมู่บ้านตังเซ่ ( Tangtse ) ต้องหยุดเพื่อให้ด่านตรวจพาสปอร์ต รวมถึงเอกสารขออนุญาตเข้าพื้นที่ชายแดน ถัดไปอีกคือ หมู่บ้านมุคเลบ ( Mukleb ) และหมู่บ้านลูกุง ( Lukung ) ยังพบทุ่งดอกไม้สีเหลืองกว้างใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ถนนเป็นดิน เลียบขนาดไปกับทางน้ำใหญ่ของทะเลสาบแปงกอง และด่านสุดท้าย





































ทะเลสาบปันกอง Pangong Lake ลาดัก

ทะเลสาบใหญ่ขนาด 700 ตารางกิโลเมตร ทะเลสาบแห่งนี้มีความยาว 130 กม. กว้าง 6-7 กม. โดยพื้นที่ 30% ของทะเลสาบอยู่ใน เขตของอินเดียและอีก 70% เป็นของจีน คนท้องถิ่นนั้นได้รับอนุญาตให้ข้ามเขตแดนไปทำมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าได้ไม่เกิน 60 กม. จากชายแดนแต่นักท่องเที่ยวไปได้ไกลจนถึงหมู่บ้านสปังมิก Spangmik ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมทะเลสาบที่มีภูมิทัศน์โดดเดี่ยวและสงบงามอย่างยิ่ง เส้นทางสู่ทะเลสาบปันกองเปิดต้อนรับการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 จากนั้นก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะพลาดเสียมิได้ การเดินทางไปทะเลสาบปันกองไม่มีรถโดยสารจึงต้องเช่ารถจิ๊ปไปเอง หรือติดต่อผ่านบริษัททัวร์ เพราะจะสะดวกในเรื่องอาหาร ที่พัก ทะเลสาบแปงกองตั้งอยู่บนพื้นที่ต่อเนื่องเข้าสู่ที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ( Tibet-Qinghai Plateau ) ซึ่งอุดมด้วยธารน้ำแข็งและยอดเขาที่มีแผ่นน้ำแข็งปลุกคลุมตลอดเกือบทั้งปี เมื่อฤดูร้อนมากถึงน้ำแข็งเริ่มละลายไหล นำพาตะกอนและธาตุนานาชนิดหลากลงมาเติมเต็มทะเลสาบบนหลังคาโลกเหล่านี้ คล้ายกับดวงตาสีมรกต บนพื้นโลกที่เพ่งมองขึ้นสู่ห้วงนภากาศ ผลสำรวจด้วยดาวเทียมธรณีวิทยาของจีนเมื่อปี ค.ศ. 2009 พบว่าทะเลสาบขนาดใหญ่สีเทอร์คอยช์ในลักษณะเดียวกับแปงกอง ยังพบอีกไม่น้อยกว่า 351 แห่ง กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่กินอาณาเขตถึง 36,552 ตารางกิโลเมตร และโอบอุ้มน้ำไว้มากกว่า 573 พันล้านคิวบิกเมตร ทะเลสาบแปงกอง ( Pangong Lake ) หรือที่ชาวลาดักห์และชนทิเบตเรียกขานกันในภาษาถิ่นว่าแปงกองโซ ( Pangong Tso : คำว่า Tso ในภาษาทิเบตหมายถึง ทะเลสาบ) โดยคำว่าแปง หมายถึง สูง และคำว่ากองหมายถึง น้ำ รวมความสื่อถึงผืนน้ำที่อยู่บนดินสูงลิบบนหลังคาโลก ทะเลสาบแปงกองอยู่ห่างเมืองเลห์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตั้ง 150 กว่ากิโลเมตรจึงต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับ 1 วัน ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะไปแค้มปิ้งพักแรมในเต้นท์ริมทะเลสาบ แต่ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมเราต้องเดินทางไปทะเทสาบแปงกองแบบไปเช้าเย็นกลับ เพราะน้ำในทะเลสาบแปงกองจะลดในช่วงเช้า แล้วจะเริ่มเอ่อท้นขึ้นท่วมลำธารอีกครั้งในช่วงเที่ยงจนปิดถนนออกจากทะเลสาบ ทำให้รถข้ามกลับมาไม่ได้






วัดลามะยูรู ( Lamayuru Gompa ) ลาดัก

เมืองจอมปลวกวัดยักษ์ วัดลามะยูรู ตามตำนานบอกว่าบริเวณที่ตั้งวัดนี้เป็นทะเลสาบ และพิธีกรรมบวงสรวงว่าบริเวณที่ตั้งวัดนี้เป็นทะเลสาบ และพิธีกรรมบวงสรวงเหล่าพญานาคในทะเลสาบ แห่งนี้ด้วย ขณะเดียวกันในทางธรณีวิทยาก็บอกได้เช่นกันว่าบริเวณที่เห็นผิวโลกพระจันทร์ทั้งหมดนี้ นั้นเป็นทะเลสาบเก่าเมื่อ 35,000 ปีก่อน เหือดแห้งไปเมื่อ 15,00 ปีมาแล้ว และพื้นผิวสีเหลืองที่เห็นนั้น คือแคลเซียมที่เกิดจากตะกอนทะเลสาบ ถนนสายตะวันตกจากเมือง เลห์ ไปยัง เมืองคาร์กิล แล้วต่อไปสู่ เมืองศรีนาการ์ ของแคว้นแคชเมียร์ที่ระดับความสูง 3,390 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลช่วงประมาณหลักกิโลเมตร 125 คือที่ตั้งของวัดสำคัญเก่าแก่ และมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในลาดักห์ คือวัดลามะยูรู ( Lamayuru Gompa ) ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาหินทรายของภูมิประเทศแบบพื้นผิวดวงจันทร์ ( Moon Landscape ) ลามะยูรูจึงเป็นสถานที่แปลกแยก แปลกตา และลึกที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่จะหาได้ในหลังคาโลกนี้ วัดลามะยูรู มีอีกชื่อหนึ่งว่า ยุงตรุง ทาปาลิง กอมปา ( Yungdrung Tharpaling Gompa ) ตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระอรหันต์นิมากุง จารึกผ่านมาถึงที่นี้เมื่อหลายร้อยปีก่อน บริเวณนี้เคยเป็นทะเลสาบอยู่ท่านทำนายว่าจะมีวัดมาเจริญศาสนา ณ สถานที่นี้ท่านจึงได้ตั้งเสาธงมนตราไว้เป็นหมุดหมายสำคัญพร้อมกับแผ่กุศลทานด้วยการโปรยเมล็ดข้าวโพดแด่ดวงวิญญาณของนาคที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ ต่อมาเมล็ดข้าวโพดกลับงอกงามขึ้นเป็นรูปเครื่องหมาย สวัสติกะ จากนั้นเมื่อท่านริมโปเช ซังโป ( Rinchen-zang-po ) พาลามะจากอาณาจักรกูเก ( Guge Kingdom ) ของทิเบตตะวันตก มาสร้างวัดตามคำทำนาย จึงตั้งชื่อ วัดในนาม ยุงตรุง ซึ่งในภาษาทิเบตหมายถึง สวัสติกานั้นเอง และยังเชื่อกันอีกว่า ช่วงหนึ่งท่านมหาสิทธานาโรปะได้เคยมาบำเพ็ญศีลอยู่ที่นี้ด้วย ภายในเขตสังฆดินแดนของลามะยูรู เมื่อแรกสัมผัสจะรู้สึกได้ถึงความเก่าแก่ของอารามที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ผนังวัดที่ก่อด้วยอิฐโคลนตากแห้ง ผนังฉาบโคลน พื้นดินเหนียว มีเสาเป็นไม้ทาสีแดงประดับลวดลายแกะสลักวิจิตร เรือนหลังคามีเพียงคานไม้รับน้ำหนักกระเบื้องไว้ เหล่านี้แม้ผ่านเวลามาเนิ่นนาน ก็ยังดูแข็งแรง แต่ที่เด่นกว่าคือจิตรกรรมฝาผนังโบราณซึ่งศิลปินเขียนเป็นรูปพระโพธิสัตว์ในปางดุร้ายตามสไตล์ทิเบต เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย และค่อยปกป้องคนดี โดยพระโพธิสัตว์เหล่านี้ท่านอวตารลงมาบนโลกเพื่อช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นออกจากวัฏสงสาร รูปจิตรกรรมฝาผนังของวิหาร พระโพธิสัตว์ที่มีพระวรกายสีน้ำเงิน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระพักตร์ดุร้ายน่ากลัวและมีรีศมีเพลิงแดงฉานล้อมรอบพระเศียร สื่อได้ถึงพลังลึกลับที่แฝงอยู่ในจิติกรรมเก่าแก่หลายชั่วอายุคน เดิมทีวัดลามะยูรูเคยเป็นของสงฆ์ ฝ่ายกาดัมปะ ( Kadampa ) แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นวัดของสงฆ์สายตริกุง-กาจูรย์ ( Drigung-Kagyu ) หลายร้อยปีก่อนที่นี้เคยมีอารามอยู่ถึง 5 กลุ่ม ทุกวันนี้เหลือเพียงวิหารกลุ่มใจกลางเท่านั้น เนื่องเพราะกาลเวลาได้ก่อ

ให้เกิดความผุพัง จึงมีการต่อเติมซ่อมแซมหลายครั้ง อย่างไรก็ตามจากจำนวนพระสงฆ์ที่เคยมีอยู่กว่า 400 รูปในอดีตกลับเหลือพระจำพรรษาอยู่อย่างถาวรเพียงประมาณ 150 รูปเท่านั้น โดยพระสงฆ์ส่วนที่เหลือท่านได้ย้ายออกไปจำวัดในหมู่บ้านรอบๆรอจนมีพิธีสำคัญประจำปีครั้งหนึ่งจึงจะเดินทางกลับมาร่วม พิธีสำคัญประจำปีครั้งหนึ่งจึงเดินทางกลับมาร่วม พิธีนั้นเรียกกันว่า ญูรู ฆับจ์ยัต ( Yuru Kabyat ) ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 17-18 เดือนห้าตามปฏิทินจันทรคติของทิเบต โดยในงานจะมีการเต้นระบำหน้ากาก และนำผ้าพระบฏอันเก่าแก่ออกมาคลี่บูชาด้วย ก็จะมีสาวลาดักห์จะสวมชุดประจำชาติที่เรียกว่า กอนชา ( Goncha ) เป็นชุดผ้าหนาสีดำยาวเลยเข่า ( ทุกวันนี้มีแบบแฟชั่นที่ตัดเย็บจากผ้าไหมจีนสีต่างๆด้วย ) เนื้อผ้าหนาทอด้วยเส้นใยแน่นเหมาะใช้ใส่ในช่วงฤดูหนาวของที่นี้ ชุดแบบเป็นทางการต้องมีผ้าคลุมไหล่ยาว ทำจากหนังแกะที่ปล่อยให้ขนปุยสีขาวสะอาดขลิบชายโดยรอบ สวมรองเท้าบู๊ทสาน แต่ที่เด่นที่สุดคือหมวกขนาดใหญ่ทรงสูง มีปีกแหลมสีดำแผ่ออกไปสองข้างคล้ายปีกผีเสื้อ เรียกว่า หมวกเปรัก ( Perak ) เจ้าหมวกนี้ประดิษฐ์จากแผ่นหนัง บุด้วยผ้าสีแดงแล้วเย็บติดด้วยอัญมณีมีค่าจำพวกหินเทอร์ควอยซ์สีเขียวอมฟ้า หินปะการังแดงและน้ำเงิน เม็ดอำพัน และเงิน หมวกเปรักจึงหนักหลายกิโลกรัม แต่งาม และแสดงฐานะของผู้สวมใส่ด้วยใครมีหินสีตกแต่งมากก็ยิ่งแสดงว่าร่ำรวยและชนชั้นสูง โดยส่วนที่มีการประดับหินเทอร์ควอยซ์ไว้มากที่สุดก็คือแผ่นกลางศีรษะ เริ่มจากกลางหน้าหน้าผากพาดยาวลงไปกลางหลัง พวกเธอจึงงามจากทุกมิติมุมมองหมวกเปรักเป็นหมวกที่ผสานศิลปะทิเบตและมองโกลเข้าด้วยกัน นอกจากจะใช้หินสีประดับเพิ่มความงามแล้ว ผู้คนยังเชื่อว่าหินสียังนำโชคมาให้ หรือช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีได้ด้วยทุกวันครอบครัวว่าไม่ยากดีมีจนในลาดักห์จึงต้องมี หมวกเปรักประจำตระกูล ส่งต่อจากแม่สู่ลูกสาวรุ่นต่อๆไป









 

 

 




 



หมู่บ้านลิกี้ร์ ( Likir Village ) ลาดัก


ชุมชนที่ถูกห้อมล้อมด้วยขุนเขา โดยมีลำธารสาขาของแม่น้ำสินธุไหลหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในหมู่บ้าน หมู่บ้านลิกกี้ร์เป็นหมู่บ้านน้อยในหุบเขาใหญ่ นอกจากธรรมชาติที่งดงามแล้ว ยังขึ้นชื่อในหมู่นักเดินทางว่าเป็นสถานที่เงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อนอย่างแท้จริง ฤดูร้อนหมู่บ้านลิกี้ร์จะถูกทุ่งข้าวบาร์เลย์เขียวสดที่เริ่มตั้งท้อง แต่งแต้มหมู่บ้านให้มีชีวิตชีวา สนซีดาร์และพืชพรรณหลายชนิดเบ่งบานขึ้นเก็บเกี่ยวไอแดดอุ่นสะสมพลังงานไว้ภายในลำต้นและเรือนราก ก่อนที่หิมะแห่งฤดูหนาวจะกลับมาเยือนในเดือนพฤศจิกายน แม้หมู่บ้านลิกี้ร์จะเป็นหมู่บ้านเล็ก แต่กลับเป็นที่ตั้งของศาสนสถานเก่าแก่ ย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 14 นักท่องเที่ยวจากเมืองเลห์จึงนิยมมาเที่ยวเมืองลิกี้ร์และในภูมิทัศน์สำคัญของลาดักห์ อันเป็นจุดที่แม่น้ำสองสีมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำสินธุ ( Indus River ) เป็นแม่น้ำสายใหญ่กว่า สีอ่อนกว่า ไหลบ่ามาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนแม่สายเล็กกว่า สีเข็มกว่า ไหลมาจากทิศใต้ คือแม่น้ำซันสการ์ ( Zanskar River ) ไหลมาจากหุบเขาซันสการ์ที่ถือว่าเป็นอาณาบริเวณลึกเร้นและงดงามที่สุดของแคว้นลาดักห์ และปัจจุบันสายน้ำแห่งนี้กลายเป็นสีน้ำตาลอ่อนปนเทา อันเกิดจากพัดพาเจือปนของตะกอนมหาศาล แต่บางฤดูสายน้ำทั้งสองจะเปลี่ยนเป็นสีเทอร์ควอยว์ใส นั้นคือช่วงก่อนเช้าฤดูหนาวเต็มตัว น้ำจากเขาสูงจึงหยุดพัดพาตะกอนลงมาและเมื่อพ้นช่วงนั้นแล้ว สายน้ำทั้งสองก็จับตัวกลายเป็นน้ำแข็งขาวโพลน แม่น้ำสินธุและแม่น้ำซันสการ์บรรจบเจือกลายเป็นอณูน้ำเดียวกัน ผสมผสานเป็นแม่น้ำสินธุที่ยิ่งใหญ่ ไหลบ่าตัดกลางหุบเขาสินธุลงทางทิสตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นผ่าน เมืองนิมู ( Nimu ) จนถึงเมืองบาสโก้ ( Basgo ) รถแล่นสูงขึ้นเขาไปบนยอดเนินเพื่อไปยังหมู่บ้าน ก็เห็นเนินเขาหินสีเท่าอ่อนที่ถูกกัดเซาะจนผิวผุพังแตกยับบนยอดเนิน










**  ขอบคุณข้อมูลจากลิงค์
http://taraarryatravel.com/info_page.php?id=72&category=34
http://www.tripdeedee.com/traveldata/leh/leh01.php
http://www.oceansmile.com/India/Ladakh.htm

No comments:

Post a Comment

ผ่านมาแล้วอย่าผ่านเลยไป แวะทักทายกันสักนิด......